ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

โรคสมองต้องรู้ : รู้จักโรคลมชัก



อ.นพ.อดิศักดิ์  กิตติสาเรศ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-184-R-00

อนุมัติวันที่ 21 มีนาคม 2560



1. โรคลมชักคืออะไร ?


          เป็นโรคที่เกิดจากการมีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติในสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากความผิดปกติในเนื้อสมอง เช่น พยาธิขึ้นสมอง โรคหลอดเลือดสมอง มีก้อนเนื้อผิดปกติ การมีแผลหรือเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ การติดเชื้อในสมอง ผู้เป็นโรคตับ โรคไต ความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ ยาและสารพิษ เป็นต้น


 

2. มีอาการเป็นอย่างไรได้บ้าง ?


          อาการแสดงเป็นไปตามตำแหน่งของสมองส่วนที่ถูกกระตุ้น ทำให้เกิดอาการชักแบบต่างๆได้ เช่น อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ชักเพียงบางส่วนของร่างกาย หรือการหมดสติ สับสนชั่วคราว


 

3. สงสัยว่าจะเป็นโรคลมชักจะต้องทำอย่างไร ?


          สำหรับผู้ป่วยต้องสงสัยโรคลมชัก ควรพบแพทย์อายุรกรรมสาขาประสาทวิทยา เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด และอาจจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อช่วยประกอบในการแยกโรคและหาสาเหตุ โดยมีการตรวจ ได้แก่


การเจาะเลือด


การถ่ายภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT-Scan)


เอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI)


การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)


โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกชนิดการตรวจตามความเหมาะสม


 

4. วิธีการรักษาทำอย่างไร  ?


          หากตรวจพบสาเหตุ ต้องรักษาตามสาเหตุที่พบ ร่วมกับการควบคุมอาการชัก หรือหากไม่พบสาเหตุต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นการเกิดการชัก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองและระบบประสาทจะพิจารณาการรักษา การรับประทานยากันชักหรือผ่าตัด ซึ่งขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย


 

5. อะไรคือสิ่งที่กระตุ้นการชักบ้าง ?


          สิ่งกระตุ้นที่ต้องหลีกเลี่ยง ได้แก่ การอดนอน อารมณ์เครียด การตรากตรำทำงานหนัก การพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มเหล้า ใช้สารเสพติด และการขาดยากันชัก

 


6. กินยากันชักดีไหม ?


          การชักทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เกิดการได้รับบาดเจ็บ จนถึงอาจเสียชีวิตจากการชักได้ ยากันชักจะลดการเกิดและการแพร่กระจายของคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติ ทำให้ไม่เกิดอาการชัก ในปัจจุบันมียาหลายชนิด การพิจารณาขึ้นกับลักษณะของการชัก โดยยาแต่ละชนิดจะมีผลข้างเคียงต่างกัน ท่านควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาร่วมกันก่อนเริ่มการรักษา

 


7. ยากันชักน่ากลัวไหม ?


          ผลข้างเคียงที่สำคัญของยากันชัก คือ การเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง อาการ คือ มีผื่นและการลอกของผิวหนังและเยื่อบุผิว ทำให้มีแผลเคืองหรือคันที่ปาก ตาและอวัยวะเพศ มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง โอกาสเกิดพบได้ไม่บ่อย หากมีอาการต้องสงสัยต้องกลับไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว


          ผลข้างเคียงที่พบบ่อยอื่นๆ ได้แก่ ง่วงนอน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ก่อนเริ่มยาจึงต้องมีการตรวจเลือดเพื่อประกอบการพิจารณาการให้ยา

 


8. การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคลมชัก


 8.1        หากต้องรับยา กินยาให้ครบ ห้ามขาดยา ห้ามหยุดยาเอง เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการชักไม่หยุดและการเสียชีวิต คือ การขาดยา หากลืมกินยาให้กินทันทีที่นึกได้ แต่หากเลยเวลาไปถึงเวลายามื้อต่อไปแล้ว ให้กินยาในขนาดเท่าเดิมต่อ หากไม่มีอาการผิดปกติไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

 

8.2        หากท่านเพิ่งเริ่มรักษาโรคลมชักหรือควบคุมอาการชักยังไม่ดี หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ๆ อาจเกิดอันตรายได้สูง ดังต่อไปนี้


ห้ามอยู่ใกล้แหล่งน้ำ : แม่น้ำลำคลอง สระว่ายน้ำ


ห้ามอยู่ใกล้ไฟและของร้อน : เตาแก๊ส กองไฟ กระทะต้มน้ำ กระทะทอด


ห้ามอยู่ที่สูง : ขอบตึก หน้าผา บันไดสูงและที่ลาดชัน


ห้ามขับรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์


ห้ามทำงานกับเครื่องจักรกลที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้


 

8.3        หากไม่มีอาการชักแล้วหยุดยาเองได้ไหม


          ในโรคลมชักที่ไม่ทราบสาเหตุ ท่านอาจหยุดยาได้หากควบคุมอาการชักได้แล้วเป็นเวลามากกว่า 2 ปี ทั้งนี้ห้ามมิให้หยุดทันที ต้องมีการปรับลดยาตามลำดับ ภายใต้คำสั่งแพทย์ที่ดูแลเท่านั้น

 


      8.4   หากตั้งครรภ์หยุดยาได้ไหม


          หากท่านพบว่าตัวเองตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดยาหรือปรับยากันชักด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้ชักไม่หยุด เกิดผลเสียกับทั้งแม่และลูกในครรภ์ได้

 


9. การปฐมพยาบาล


9.1     หากท่านรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะมีอาการชัก


                    - หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ทันที


                    - ควรเรียกขอความช่วยเหลือ ให้บัตรประจำตัวแก่ผู้ที่อยู่บริเวณนั้น


                    - อยู่ให้ห่างจากของมีคมและพื้นที่เสี่ยงอันตรายทันที


                    - นั่งหรือนอนลงในพื้นที่ปลอดภัย


 

9.2        หากท่านเป็นผู้ดูแลหรือผู้เห็นเหตุการณ์ขณะผู้ป่วยมีอาการชัก


ให้ดูพื้นที่บริเวณรอบตัวผู้ป่วยให้ปลอดภัยจากสิ่งของมีคมและสิ่งของอันตราย


ไม่จำเป็นต้องหาช้อนหรือวัสดุในการป้องกันการกัดลิ้น เพราะอาจทำให้สำลักและเป็นอันตรายได้


เมื่อผู้ป่วยหยุดชักแล้วให้ดู ถ้ามีสิ่งของในปากและจมูกควรเอาออก ถ้าผู้ป่วยใส่ฟันปลอมควรถอดฟันปลอมออก ถ้าทำได้ผ่อนเสื้อผ้าเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก


 

ป้องกันการสำลัก พยายามโดยจับให้ผู้ป่วยนอนในท่าตะแคงตัว การจัดท่าผู้ป่วยควรทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ดึงแขนขา เพราะอาจมีการหักหรือหลุดจากการชัก วางแขนรองบริเวณด้านข้างของใบหน้าเพื่อกันการสำลัก พยายามจัดลักษณะผู้ป่วยให้เป็นดังภาพ


หากมีแผลให้ทำการห้ามเลือด พยายามอยู่ข้างตัวผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยฟื้น


โทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน 1669 และโทรแจ้งญาติ




Call Center : 0-5393-6900-1/ คลินิกอายุรกรรม : 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphat