ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การเพิ่มความแข็งแรงกระจกตาด้วยการฉายแสงร่วมกับการเติมวิตามิน


การเพิ่มความแข็งแรงกระจกตาด้วยการฉายแสงร่วมกับการเติมวิตามิน

Corneal collagen cross-linking with riboflavin (CXL) 


นพ. พิชญ์ อุปพงศ์
แพทย์เฉพาะทางกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตา ต้อกระจก

รหัสเอกสาร PI-EYE-006 Rev.00

  • อนุมัติวันที่ 9 สิงหาคม 2567

เป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระจกตาที่เรียกว่า กระจกตาย้วยหรือกระจกตาโป่งพองที่เป็นมากขึ้น (keratoconus หรือ progressive corneal ectasia) โดยการเพิ่มความแข็งแรงในเนื้อกระจกตาด้วย riboflavin (vitamin B2) ร่วมกับ ultraviolet-A (UVA) ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยา cross linking ขึ้นในชั้นกลางของกระจกตา เพื่อทำให้คอลลาเจนเนื้อกระจกตาแข็งแรงขึ้น


การรักษาได้หลายวิธี คือ

1 .ใส่แว่นตาแก้ไข สายตาสั้น – สายตาเอียง โดยทั่วไปมักใช้ได้ในช่วงระยะแรกๆของโรคที่กระจกตายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก

2. ใส่คอนแทคเลนส์เมื่อสายตาเอียงมากขึ้นจนใส่แว่นไม่ได้ผล ซึ่งการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งจะช่วยแก้ไขสายตาได้ในระดับหนึ่ง

3. การผ่าตัด เป็นที่ทราบกันดีว่า หากโรคเป็นรุนแรงขึ้น การรักษาจะลงเอยด้วยการเปลี่ยนกระจกตา (Keratoplasty) โดยบางรายงานพบว่าประมาณ 21% ของผู้ป่วยต้องลงเอยด้วยการเปลี่ยนกระจกตา และมีถึง 53% ต้องทำการเปลี่ยนกระจกตาครั้งที่ 2 และมี 33% ต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาครั้งที่ 3 ปัจจุบันจึงมีการพยายามหาวิธีรักษาเพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของกระจกตา ทำให้ลดความจำเป็นในการเปลี่ยนกระจกตาลง ได้แก่

            3.1 การผ่าตัดที่เรียกว่า Intrastromal corneal ring segment implantation (ICRS) โดยการสอดวัสดุวงแหวนเข้าไปในเนื้อกระจกตา เชื่อว่าเป็นการบังคับไม่ให้กระจกตาโป่งออกโดยวิธีนี่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบันเพราะให้ผลการรักษาออกมาค่อนข้างดีโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเปลี่ยนกระจกตา ปัจจุบันวิธีนี้ได้เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในโรงเรียนแพทย์และรพ.เอกชนที่รักษาฉพาะทางในเรื่องนี้  

3.2 วิธี Corneal collagen cross link (เรียกกันว่า CXL) เป็นการแช่กระจกตาด้วยสาร Ribroflavinร่วมกับการฉายแสง ultraviolet-A (UVA) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในเนื้อกระจกตา


ประโยชน์ของการทำหัตถการ

เหตุผลในการทำ corneal collagen cross linking (CXL) เพื่อทำให้กระจกตามีความแข็งแรงขึ้น ชะลอหรือหยุดการโก่งตัวของกระจกตาไม่ให้เป็นมากขึ้น มีผลทำให้ผู้ป่วยรักษาระดับการมองเห็นให้คงที่ ชะลอการดำเนินของโรค จนไปถึงขั้นที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา


ข้อมูลที่ควรทราบหลังทำ

หลังทำหัตถการผู้ป่วยจะได้รับการใส่เลนส์สัมผัสประมาณ 1 สัปดาห์ กรณีที่ทำหลุดห้ามใส่กลับคืนอาจมีความไวต่อแสงมากขึ้น ตาแดง มีอาการปวดตาหรือรู้สึกมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตาและความคมชัดของสายตาผันผวน (สายตาชัดบ้างไม่ชัดบ้าง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์แรกหลังทำหัตถการ แต่อาการต่างๆ เหล่านี้จะดีขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์แนะนำให้สวมแว่นกันแดดเมื่อออกนอกบ้าน และใช้พลาสติกครอบตาเมื่อเข้านอนในช่วง 2 สัปดาห์แรก


ความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อน

เช่นเดียวกับการรักษาประเภทอื่นๆ ความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคตาก่อนการทำหัตถการและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้หลังการทำหัตถการที่ได้รับจากจักษุแพทย์ที่ดูแล ผลข้างเคียงที่พบได้

เคืองแสบ น้ำตาไหล ลืมตาไม่ขึ้น ปวดตาได้ในช่วง 2-3 วันแรกหลังการรักษา ซึ่งจะค่อยๆ น้อยลงเรื่อยๆ ในสัปดาห์แรกมีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดฝ้าหมอกขึ้นมาได้ชั่วคราวหลังการผ่าตัดเมื่อส่องดูด้วยกล้อง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รบกวนการมองเห็น แนะนำให้ใส่แว่นกันแดดเวลาไปที่โล่งแจ้งและหยอดยาตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดฝ้า การติดเชื้อที่กระจกตา พบได้น้อยมาก แพทย์จะดูแลความสะอาดในช่วงการผ่าตัดให้ แต่หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องดูแลหยอดยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำ ระวังอย่าให้น้ำเข้าตา อย่าให้นิ้วหรือปลายหลอดยาไปจิ้มตากระจกตาป่องย้วยอาจเป็นเพิ่มมากขึ้นได้ แต่พบได้น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษามาก การดูแลเรื่องภูมิแพ้ ลดการคันตา ลดการขยี้ตา สำคัญมากที่จะไม่ให้โรคดำเนินต่อไป บางกรณีอาจพิจารณาทำ corneal collagen cross linking (CXL) ซ้ำได้


ทางเลือกอื่นในการรักษา

ภาวะกระจกตาย้วยเป็นความผิดปกติของกระจกตา ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างภายในชั้นกลางของกระจกตา ไม่มีความเจ็บปวด ไม่พบการอักเสบหรือติดเชื้อ เพียงแต่ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง

โดยทั่วไปโรคกระจกตาย้วยสามารถทำให้การมองเห็นกลับคืนมีหลายวิธี ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น


ผลเสียหากไม่ทำการรักษา

บางรายที่กระจกตาป่องย้วยยังมากขึ้นเรื่อยๆ มีผลทำให้ตามัวลง ซึ่งอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา เพื่อให้กลับมาเห็นได้อีกครั้ง