ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกสำคัญอย่างไร



 

ผศ.นพ.สมพร โชตินฤมล

กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

รหัสเอกสาร PI-IMC-253-R-00

อนุมัติวันที่ 22 ตุลาคม 2563


 

        ในเด็กแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่มักใส่ใจในสิ่งที่มองเห็นภายนอกเป็นส่วนใหญ่ เช่น เรื่องการกินนม การขับถ่ายและอาจมองข้ามความสำคัญในบางเรื่อง โดยเฉพาะด้านการได้ยินของลูก


 

        ปัญหาการสูญเสียการได้ยินในเด็กมีผลกระทบอย่างมากต่อพัฒนาการทางภาษาและการพูด โดยหูคนเราจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หูชั้นนอก ซึ่งเป็นรูหูเข้าไปจนถึงแก้วหู หูชั้นกลาง คือ ส่วนที่อยู่หลังแก้วหู และแก้วหูเป็นตัวกั้นระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง ประกอบด้วยกระดูก ค้อน ทั่ง โกลน ซึ่งมีหน้าที่นำและขยายเสียงเข้าสู่หูชั้นใน และ หูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนของระบบประสาทในการได้ยิน การสูญเสียการได้ยินสามารถเกิดจากความผิดปกติของหูทั้งสามส่วน การมองเห็นว่าลักษณะภายนอกของหูเป็นปกติ ไม่สามารถรับรองได้ว่าการได้ยินจะปกติ

 

        จากการศึกษาพบว่า การตรวจพบความผิดปกติของการได้ยินในระยะทารกก่อนที่จะพูดได้ จะทำให้เด็กได้รับการช่วย เหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน และส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษา การพูดสมวัย รวมทั้งพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น อารมณ์ สังคม การเรียนรู้ต่างๆ ก็จะดีตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถวินิจฉัยภาวะผิดปกติทางการได้ยินก่อนเด็กอายุ 6 เดือน แล้วรีบให้การช่วยเหลือ อาจช่วยให้เด็กมีพัฒนาการใกล้เคียงกับเด็กปกติ ดังนั้น การตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติทาง การได้ยินจึงควรทำตั้งแต่แรกเกิด ที่เรียกว่า การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด (Newborn Hearing Screening)

    

    

คัดกรองการได้ยิน ตรวจอย่างไร


        การตรวจคัดกรองการได้ยิน สามารถตรวจตั้งแต่แรกเกิดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป โดยใช้เครื่องมือที่เรียก ว่า Otoacoustic emissions (OAE) ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของเซลล์ประสาทหูชั้นในส่วนการได้ยินว่าทำงานดีหรือไม่ โดยอาศัยหลักว่า ถ้าหูชั้นในทำงานดี แสดงว่าเด็กได้ยิน


        การตรวจคัดกรองการได้ยิน จะทำการทดสอบในขณะที่เด็กหลับอยู่นิ่งๆ โดยปล่อยเสียงกระตุ้น ไม่ทำให้เด็กเจ็บปวด เมื่อเครื่องทำงานจบจะแสดงผลการตรวจโดยอัตโนมัติ ใช้เวลาในการทดสอบน้อย สามารถทราบผลทันทีเมื่อสิ้นสุดการตรวจ

 

 

เด็กที่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองการได้ยิน


ทารกทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน โดยเฉพาะทารกที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนี้


- เด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวหูตึงตั้งแต่ยังเล็ก


- เด็กที่มีความผิดปกติของหน้าตา โครงหน้าที่ผิดปกติ รวมทั้งปากแหว่ง เพดานโหว่


- โรคทางพันธุกรรม


- มารดามีภาวะติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เริม ติดเชื้อไซโตเมคตะโสไวรัส เป็นต้น


- เด็กที่คลอดออกมาแล้วน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม


- มีตัวเหลืองมากในระหว่างแรกคลอด จนต้องถ่ายเลือด


- มีภาวะขาดออกซิเจนรุนแรงตั้งแต่แรกเกิด


- มีภาวะติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด เพราะการติดเชื้อจะไปทำลายประสาทหูชั้นใน รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะบางตัวที่เด็กได้รับซ้ำ อาจไปทำลายหูชั้นในเช่นกัน 

 

 

 

การดูแลหูลูก


        หากต้องการทำความสะอาด ต้องทำเพียงรอบนอก คือ บริเวณใบหูเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้พันสำลีเข้าไปเช็ดในหูหรือแคะขี้หู เพราะอาจกลายเป็นการดันขี้หูเข้าไปลึกขึ้น ในขณะสระผมทารก ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางพับใบหูเข้าไปข้างในให้แน่น เพื่อป้องกันน้ำเข้าหู หรือหากน้ำเข้าหู หากเป็นน้ำสะอาดมักไม่เป็นปัญหา เพราะน้ำไม่สามารถผ่านแก้วหูเข้าไปได้  เหมือนกับผิวหนังที่สามารถเปียกน้ำได้นั่นเอง แต่หากพบว่าหูมีน้ำเหลืองหรือหนอง ควรรีบพาไปพบแพทย์



        การได้ยินในเด็กมีความสำคัญต่อพัฒนาการ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตลูก เช่น ในเด็กอายุ 2-6 เดือน เมื่อเรียกหรือมีเสียงใกล้ๆ แต่ลูกยังไม่หันตามเสียง หรือในทารกแรกเกิดที่จะตอบสนองแต่เสียงดังๆ เท่านั้น โดยเด็กจะสะดุ้งอย่างชัดเจน แต่หากไม่สะดุ้งหรือไม่มีปฏิกิริยาใดตอบสนองต่อการเกิดเสียง นั่นอาจสันนิษฐานได้ว่าเด็กอาจมีปัญหาทางการได้ยิน ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป




ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat