ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ปวดศีรษะ




อ.พญ.ผกามาศ  พสกภักดี

อายุรแพทย์โรคระบบประสาทและสมอง

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-153-R-00

อนุมัติวันที่ 27 เมษายน 2559



        อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อย  เกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ผู้ใหญ่เกือบทุกคนล้วนเคยปวดศีรษะมาไม่มากก็น้อย จากการสำรวจพบว่า  ประชากรทั่วโลกร้อยละ 46 เคยมีอาการปวดศีรษะ  โดยส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรงและอาจหายไปได้เอง  กลุ่มอาการที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว รองลงมาเป็นปวดศีรษะไมเกรน


 

โรคปวดศรีษะมีแบบไหนบ้าง


โรคปวดศีรษะจำแนกได้เป็น 3 ประเภท  คือ 


1.   โรคปวดศีรษะปฐมภูมิ


คือ  กลุ่มอาการปวดศีรษะที่ตรวจไม่พบความผิดปกติทางกายวิภาคของสมอง เป็นกลุ่มอาการที่ไม่ร้ายแรง มักพบบ่อยกว่าโรคปวดศีรษะประเภทอื่น เช่น โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว  ปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น


2.   โรคปวดศีรษะทุติยภูมิ


คือ กลุ่มอาการปวดศีรษะที่มีความผิดปกติทางกายวิภาคของระบบประสาท หรือนอกระบบประสาท ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการทางระบบประสาทอื่นๆ  เช่น  ฝีในสมอง  เนื้องอก เลือดออกในสมอง  ความดันในโพรงสมองสูง เป็นต้น


3.   โรคปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมอง  โรคปวดใบหน้า และโรคปวดศีรษะชนิดอื่นๆ

ซึ่งพบได้น้อย

 


ปวดศีรษะแบบใดอันตรายและต้องไปพบแพทย์


         เนื่องจากอาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยหลายท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผู้ป่วยควรสังเกตอาการปวดศีรษะของตนเอง  หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์

 

ปวดศีรษะรุนแรง ฉับพลันทันทีทันใดแบบที่ไม่เคยปวดมาก่อน


อาการปวดศีรษะที่มีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความถี่ ความรุนแรง และระยะเวลาที่ปวด


อาการปวดศีรษะที่ลักษณะการปวดต่างจากที่เคยปวดประจำ


- อาการปวดศีรษะที่แย่ลง เมื่อไอ จาม เบ่ง หรือเปลี่ยนท่าทาง


ปวดศีรษะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็ง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด

 

ปวดศีรษะหลังจากได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ เช่น ศีรษะกระแทก โดนทำร้ายร่างกาย


อาการปวดศีรษะเริ่มต้นเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี


ปวดศีรษะร่วมกับอาการอื่น เช่น  อ่อนแรง  ชาแขนขาครึ่งซีก มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว   พูดไม่ออก   พูดไม่ชัด


      ปากเบี้ยว  เดินเซ  ไข้  พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง  ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงอาเจียนพุ่ง  เป็นต้น


- ทานยาแก้ปวดแล้ว  แต่อาการไม่บรรเทา



 

ถ้าไปพบแพทย์แล้ว  แพทย์จะทำอะไรบ้าง


1.    ซักประวัติ

 

ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดที่จะช่วยในการวินิจฉัย  ดังนั้น ผู้ป่วยควรเล่ารายละเอียดให้ได้มากที่สุด  ทั้งลักษณะการปวด  ระยะเวลาที่ปวด  ตำแหน่งที่ปวด  ความรุนแรงที่ปวด  อาการนำก่อนปวดศีรษะ  สิ่งที่กระตุ้นให้ปวดศีรษะ สิ่งที่ช่วยให้อาการปวดศีรษะลดลงอาการอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย ประวัติการใช้ยา  โรคประจำตัว  รวมทั้งประวัติครอบครัว



2.    ตรวจร่างกาย


แพทย์จะทำการตรวจทั้งตรวจร่างกายทั่วไป  และตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียด

 

 


3.    ตรวจทางห้องปฏิบัติการ 


โดยทั่วไปไม่ได้ทำการตรวจในผู้ป่วยทุกราย  จะทำการตรวจเพื่อหาสาเหตุในรายที่สงสัยเท่านั้น  เช่น  ตรวจนับเม็ดเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะร่วมกับไข้ เจาะน้ำไขสันหลังส่งตรวจในกรณีที่สงสัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น


4.    ตรวจทางรังสีของสมอง 


โดยทำการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจในกรณีที่สงสัยว่าอาการปวดศีรษะนั้นมีพยาธิสภาพที่สมอง เช่น เนื้องอก เลือดออกในสมองหรือชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน ฝีในสมอง  เป็นต้น 

 


ถ้ามีอาการปวดศีรษะ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร


หากมีอาการปวดศีรษะแบบอันตรายดังกล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์


ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยารับประทานเอง

 

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือใช้สารเสพติด


หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียด

 

หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว 

 

 


เอกสารอ้างอิง : ตำราประสาทวิทยาคลินิก (Textbook of clinical neurology Volume 2) สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย 


Call Center : 0-5393-6900-1 / คลินิกอายุรกรรม : 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphat