อ.นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองและระบบประสาท
รหัสเอกสาร PI-IMC-369-R-00
อนุมัติวันที่ 24 มิถุนายน 2564
สมองเสื่อมเป็นอย่างไร ?
เป็นภาวะที่มีการทำงานของสมองถดถอยอย่างต่อเนื่อง จนเกิดอาการแสดงตามตำแหน่งของสมองที่เสียไป อาการแสดงจึงมีได้หลากหลายขึ้นกับตำแหน่งที่ผิดปกติและระยะของโรค ที่พบบ่อยได้แก่ หลงลืมเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้น หลงทิศทาง สับสนชื่อคน สิ่งของต่างๆ สูญเสียความสามารถในการคิดคำนวณ การใช้เครื่องมือ หรือกิจกรรมที่เคยทำ จนถึงไม่สามารถดูแลตัวเองได้
มาด้วยอาการอะไรได้บ้าง ?
อาการความจำเสื่อม ผู้ป่วยจะไม่ได้มาด้วยรู้สึกความจำไม่ดีเพียงอย่างเดียว หลายครั้งที่ญาติหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เป็นผู้สังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ถามซ้ำบ่อยๆ จำไม่ได้ว่ากินข้าวหรือยัง ทำให้บางทีไม่กินข้าวจนน้ำหนักลด หรือบางคนก็กินแล้วกินอีกไม่รู้จักอิ่มซักที ของหายบ่อยๆ โดยเฉพาะเงินหรือของใช้ แล้วเกิดการระแวงสงสัยคนรอบตัวว่าเป็นผู้ขโมยไป แม่ครัวที่ทำอาหารทุกวันกลับลืมใส่เครื่องปรุงจนอาหารรับประทานไม่ได้ ลืมปิดเตาแก๊สจนไฟไหม้บ้าน ผู้บริหารที่จำไม่ได้เวลาเปิดคอมพิวเตอร์ สับสนทิศทางจนหลงทางเวลาไปนอกบ้านหรือกลับบ้านไม่ถูก บางรายมีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดไปคิดว่าตัวเองกลับเป็นหนุ่มอีกครั้งชอบเกี้ยวพาราศีสาวๆ ทั้งหมดล้วนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานกับครอบครัวและผู้ดูแลเป็นอย่างมาก จนอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
“ อาการผิดปกติ เป็นจากโรค มิใช่เป็นการแกล้งทำ ”
เกิดจากอะไร ?
มีหลายภาวะที่ทำให้เกิดอาการโรคสมองเสื่อมได้ โรคที่พบบ่อย คือ โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง มีบางคนมีอาการจากโรคที่สามารถรักษาให้หายได้อื่นๆ เช่น มีภาวะซึมเศร้า เป็นโรคขาดสารอาหารและวิตามิน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยผิดปกติ โรคซิฟิลิส ภาวะโรคตับ โรคไต สมดุลเกลือแร่ผิดปกติ และจากยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาลดน้ำมูก ยาจิตเวช นอกจากนี้ยังต้องแยกจากโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง และภาวะโพรงสมองขยายตัว
โรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์ต่างกันอย่างไร ?
ถ้าเปรียบภาวะสมองเสื่อมเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็จะเห็นได้ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นมีหลายยี่ห้อ แต่ก็จะมียี่ห้อที่คนนิยมสูงสุดอยู่ อัลไซม์เมอร์ก็เหมือนเป็นยี่ห้อหนึ่งที่พบบ่อยที่สุด แต่ยังมียี่ห้ออื่นอีก ที่พบรองลงมา คือ โรคหลอดเลือดสมอง และยังมีจากสาเหตุอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้น อัลไซเมอร์จึงเป็นเพียงหนึ่งในโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมเท่านั้น
โรคอัลไซเมอร์
ผู้ป่วยจะมีการทำงานของสมองที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปลี่ยนแปลงช้าๆ ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงของสมองหลายๆ อย่างร่วมกัน ปัจจุบันพบมีการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่ส่วนหนึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยจะพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้นด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่60ปีขึ้นไป และสามารถพบผู้ป่วยได้ถึงหนึ่งในสามของผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี
โรคหลอดเลือดสมอง
สมองถูกทำลายเนื่องจากเกิดภาวะเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ อาการจะเป็นฉับพลัน และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนแรงแขนขา อาการชา อาการเวียนศีรษะ พบมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ เป็นต้น เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้
วินิจฉัยโรคอย่างไร ?
เมื่อสงสัยโรคสมองเสื่อม จำเป็นต้องอาศัยประวัติจากผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด การตรวจร่างกาย และทำแบบทดสอบการทำงานของสมอง ผู้มีความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากบางครั้งแพทย์ทั่วไปอาจไม่คุ้นเคยกับโรคนี้ การวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องตรวจเลือด และ ตรวจภาพถ่ายทางรังสีสมอง โดยขึ้นกับการพิจารณาตามความเหมาะสมของแพทย์ที่ดูแล
การเปลี่ยนแปลงในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร ?
ระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงเพียงบางอย่างจนอาจไม่สังเกตเห็นแล้วค่อยมากขึ้น จะเริ่มมีปัญหาด้านพฤติกรรมจนอาจเป็นปัญหากับผู้ดูแล การทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้น้อยลง จนกระทั่งไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่รับรู้ถึงคนรอบข้างและตัวเองว่าเป็นใคร จนต้องนอนติดเตียง
รักษาได้อย่างไร ?
กำจัดความเสี่ยง
การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ การกำจัดสาเหตุของโรค และควบคุมความเสี่ยงที่จะทำให้สมองถูกทำลายจากโรคอื่นๆ ที่สามารถป้องกันได้ ได้แก่ ควบคุมความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (หยุดการสูบบุหรี่ ตรวจรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะน้ำหนักเกิน) สวมใส่หมวกนิรภัยเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนที่สมองหากเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ หลีกเลี่ยงสารเสพย์ติดที่มีผลต่อสมอง เช่น เหล้าและเครื่องดื่มที่มีแอล์กอฮอล์
การรักษาด้วยยา
ปัจจุบันมียาที่ได้รับการรับรองในการรักษา ได้แก่ ยากลุ่ม Cholinesterase inhibitors และยากลุ่ม NMDA receptor antagonist ซึ่งหวังผลช่วยในการลดพฤติกรรมที่ผิดปกติ และช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น โดยการเพิ่มสารสื่อประสาทสมองและทำให้การรับข้อมูลภายในสมองได้ดีขึ้น ส่วนยาอื่นๆ นั้นยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันถึงประโยชน์ในการรักษาโรคสมองเสื่อมในปัจจุบัน นอกจากนี้ยัง มีการใช้ยากลุ่มจิตเวชร่วมในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางจิต เช่น การเห็นภาพหลอน อาการสับสน และปัญหาด้านการนอนหลับ
การฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
แนะนำให้มีการฝึกสมองตามระยะของโรค โดยระยะแรกจะเน้นให้ผู้ป่วยคงทำกิจกรรมไว้ให้มากที่สุด และช่วยเหลือหากจำเป็นปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมอาทิ ป้ายช่วยเตือนกิจกรรมต่างๆ ปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ระยะต่อมาเมื่อมีปัญหาด้านพฤติกรรม จะเน้นให้ผู้ดูแลเข้าใจผู้ป่วย และพยายามค้นหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปแล้วหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น ใช้เทคนิคต่างๆ อาทิ การเบี่ยงเบนความสนใจ การให้คำชม เพื่อหยุดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ และเมื่อผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ก็ดูแลเรื่องอาหารและกายภาพบำบัด พยายามฟื้นฟูสมองส่วนที่ยังเหลืออยู่ เช่น หาเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยถึงเรื่องราวและความภาคภูมิใจในอดีต นำรูปหรือสิ่งของเก่าในบ้านมาช่วยกระตุ้นความทรงจำ สุดท้ายควรดูแลด้านจิตใจให้มีความสุขและคงความภาคภูมิใจในความเป็นมนุษย์
“ การดูแลผู้ป่วยโรคสมอง ต้องอาศัยญาติและผู้ดูแลที่เข้าใจ อย่างน้อยต้องรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นจากตัวโรค มิได้เป็นเพราะเสแสร้งแกล้งทำ ต้องอาศัยความรักและการรำลึกถึงคุณความดีในอดีตที่บุพการีมีให้มากกว่าหลักเหตุผล ทำให้ท่านสบายกายและสบายใจได้ตลอดช่วงอายุขัย ”
การป้องกันโรคสมองเสื่อมทำอย่างไร
มีหลักการง่ายๆ คือ ป้องกันการที่สมองถูกทำลายจากสาเหตุต่างๆ และพัฒนาสมองให้มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น เสมือนการเพิ่มต้นทุนของสมองให้มากขึ้น
การป้องกันสมองถูกทำลาย
- ควบคุมความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (หยุดการสูบบุหรี่ ตรวจรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกิน)
- หลีกเลี่ยงยาที่มีผลต่อสมอง
- หลีกเลี่ยงสารเสพติดที่มีผลต่อสมอง เช่น เหล้า และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ควบคุมอารมณ์ หลีกเลี่ยงภาวะซึมเศร้า
- สวมใส่หมวกนิรภัยเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนที่สมอง หากเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ
การพัฒนาสมองให้มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น
- การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา อย่างมีวความสุข
- เข้าร่วมกิจกรรมสังคม ส่งเสริมการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
- การเล่นเกมส์ฝึกสมอง
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ
- ฝึกสมาธิในการใช้ชีวิต
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1 / คลินิกอายุรกรรม : 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphat
หรือ เพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด
Facebook : SriphatMedicalCenter