อ.นพ.ชัยวรรธน์ ประดิษฐ์ทองงาม
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
รหัสเอกสาร PI-GI-IMC-003-R-00
อนุมัติวันที่ 11 กรกฎาคม 2560
ตับเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่สำคัญของร่างกาย วางอยู่ในช่องท้องด้านขวาบน มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 1800 กรัมในผู้ชาย และ 1400 กรัมในผู้หญิง มีหน้าที่สำคัญ คือ ช่วยการสร้างโปรตีน กำจัดของเสียออกจากร่างกาย สร้างน้ำดีเพื่อช่วยย่อยอาหารและดูดซึมไขมัน ช่วยสร้างสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ช่วยสร้างสารเพื่อการแข็งตัวของเลือด และเป็นแหล่งสะสมน้ำตาลให้ร่างกายนำมาใช้เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคตับแข็งเป็นภาวะที่เกิดจากการที่เนื้อเยื่อตับมีการบาดเจ็บและถูกทำลายจากการอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ เกิดมีเนื้อเยื่อพังผืดแทรกอยู่ในเนื้อตับ ทำให้การทำงานของตับเสียไป และเมื่อเนื้อเยื่อตับเป็นพังผืดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื้อเยื่อตับจึงแข็งขึ้น (เป็นที่มาของคำว่า โรคตับแข็ง) นอกจากนี้เนื้อเยื่อตับที่เหลืออยู่จะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จึงเกิดเป็นปุ่มก้อนเนื้อขึ้น เมื่อร่วมกับการเกิดพังผืดจึงก่อให้ตับแข็งมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำทั่วทั้งตับ ดังภาพประกอบ
ลักษณะของตับปกติ และภาวะตับแข็ง
สาเหตุของโรคตับแข็งที่สำคัญที่พบในประเทศไทย คือ การดื่มสุราเรื้อรัง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซีเรื้อรัง ยาและยาสมุนไพรบางประเภท และภาวะไขมันพอกตับ นอกจากนี้ภาวะเจ็บป่วยหรือโรคบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดภาวะตับแข็งได้ เช่น ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง โรคตับอักเสบจากภูมิต่อต้านตนเอง โรคกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น โรคที่ทำให้เกิดการสะสมของทองแดงหรือเหล็กมากในตับ เป็นต้น
อาการของผู้ป่วยโรคตับแข็งนั้นในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ อาจตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือจากการตรวจเลือดเมื่อมีความเจ็บป่วยอื่นๆ และพบมีการทำงานของตับผิดปกติ โดยอาการของโรคตับแข็งที่พอจะสังเกตได้ คือ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด ท้องอืด แน่นท้อง และอาจมีอาการเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย เมื่อภาวะตับแข็งเริ่มเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง มีอาการคันตามเนื้อตัว และเริ่มมีอาการบวมบริเวณขาและเกิดภาวะท้องมานตามมา เนื่องจากระดับโปรตีนอัลบูมินในเลือดจะลดต่ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตโปรตีนจากตับลดลงนั่นเอง นอกจากนี้ยังพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับแข็งที่สำคัญ คือ ภาวะความดันในระบบหลอดเลือดดำของตับสูงขึ้น โดยปกติเลือดดำจากลำไส้และม้ามจะไหลกลับเข้าสู่ตับเพื่อนำกลับเข้าไปที่หัวใจ เมื่อความดันในระบบหลอดเลือดดำของตับสูงขึ้น เลือดบางส่วนจะไหลย้อนกลับทางม้าม ผ่านทางกระเพาะอาหารและหลอดอาหารกลับเข้าสู่หัวใจ เป็นผลให้หลอดเลือดดำบริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหารขยายตัวออกจนกลายเป็นหลอดเลือดดำขอด (โป่งพอง) ซึ่งจะมีผนังบางและแตกง่าย เกิดภาวะตกเลือดในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหารได้ โดยผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหลว หรือ อาเจียนเป็นเลือดสด และบ่อยครั้งที่เลือดอาจออกปริมาณมากจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคตับแข็งโดยทั่วไปอาศัยอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการและการส่งตรวจเอ็กซเรย์ ก็มักจะสามารถวินิจฉัยโรคและสาเหตุของตับแข็งได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการเจาะตับเพื่อตรวจเนื้อเยื่อตับเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและหาสาเหตุของโรคตับแข็ง
การรักษาโรคตับแข็งนั้น กรณีที่เป็นตับแข็งระยะแรกๆ และการทำงานของตับยังไม่เสียไปมาก การรักษาที่สาเหตุของโรคตับแข็งจะช่วยชะลอไม่ให้ตับถูกทำลายมากได้ เช่น การหยุดดื่มสุรา การให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือการให้ยาจำเพาะโรคที่เป็นสาเหตุของตับแข็ง เป็นต้น กรณีที่ตับแข็งลุกลามมากขึ้น และมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แล้ว แพทย์จะช่วยดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ให้ยาขับปัสสาวะเพื่อขับน้ำและเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย การส่องกล้องรักษา และให้ยาลดความดันในระบบหลอดเลือดดำของตับกรณีที่มีเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร และสุดท้ายเมื่อตับแข็งเป็นมากจนตับไม่สามารถทำงานได้ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากจนไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ซึ่งพบว่าในปัจจุบันได้ผลค่อนข้างดี
การปฎิบัติตัวเมื่อมีภาวะตับแข็งแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ตับส่วนที่ยังดีอยู่ถูกทำลายมากขึ้น ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้มีสารอาหารเพียงพอต่อร่างกาย เน้นทานอาหารที่มีโปรตีนสูง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารที่มีรสเค็มจัด ควรทานอาหารที่สะอาด ปรุงสดใหม่ ไม่ทานอาหารที่เก็บค้างคืนหรืออาหารสุกๆ ดิบๆ และไม่ควรซื้อยามาทานเอง หรือทานยาเกินขนาด เพราะยาหลายชนิดมักจะถูกทำลายที่ตับ จึงอาจทำให้ตับทำงานหนักขึ้นและภาวะตับแข็งแย่ลงได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยตับแข็งมักมีภาวะขาดวิตามินต่างๆ จึงแนะนำให้รับประทานวิตามินเสริมตามคำแนะนำของแพทย์ ผู้ป่วยควรดูแลรักษาตัวและหมั่นมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคตับแข็งเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลรักษาต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากทางแพทย์ที่ดูแลรักษาและตัวผู้ป่วยเอง เพื่อให้การดูแลรักษาภาวะตับแข็งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายนี้ ภาวะตับแข็งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งตับ จึงแนะนำผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งควรมีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ โดยแนะนำให้มีการตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) ของตับและเจาะเลือดดูสารบ่งชี้มะเร็งตับเป็นระยะ
เอกสารอ้างอิง: โรคตับแข็ง:มูลนิธิโรคตับแห่งประเทศไทย; http://www.thailiverfoundation.org/th/cms/detail.php?id=30
ภาพประกอบ: http://depts.washington.edu/hepstudy/definitions/?let=c
สาระน่ารู้กับศูนย์ศรีพัฒน์ ตอน โรคตับแข็ง ภาวะเสี่ยงมะเร็งตับจากการดื่มสุรา (วีดีโอ)