อ.นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ
อายุรแพทย์โรคไต
รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-143-R-00
อนุมัติวันที่ 27 เมษายน 2559
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย การที่ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเป็นเวลานาน มีผลทำให้การทำงานของไตลดลงเร็วกว่าผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีถึง 10 เท่า ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจำนวนมากมักไม่มีอาการในช่วงแรกๆ เมื่อเริ่มมีอาการและมาพบแพทย์ก็เป็นโรคไตเรื้อรังระยะท้ายๆ และต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางหน้าท้อง) ในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตจากเบาหวาน มีดังต่อไปนี้
1. การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่ดี
2. การควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงไม่ดี
3. ภาวะไขมันในเลือดสูง
4. การสูบบุหรี่
5. ภาวะอ้วนจากดัชนีมวลกายสูง ( Body Mass Index , BMI )
6. ปัจจัยทางพันธุกรรม โอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นเมื่อญาติสายตรงเป็นโรคไตจากเบาหวาน
แนวทางการชะลอการเสื่อมของไตจากเบาหวาน
1. การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
1.1 ผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคไต และผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวานระยะที่ 1-3
: ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงให้อยู่ในช่วง 90-130 มิลลิกรัม %
: ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารให้น้อยกว่า 180 มิลลิกรัม %
: ควรควบคุมระดับฮีโมโกลบิน เอวันซี (Hb A1C ; เป็นค่าน้ำตาลสะสม บอกถึงความสม่ำเสมอในการควบคุมน้ำตาลของผู้ป่วยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา) ให้มีค่าน้อยกว่า 7.0
1.2 ผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวานระยะที่ 4-5 ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายโรค ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิต การควบคุมระดับ
น้ำตาลในเลือดอาจไม่เข้มงวดเหมือนกับผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วไป และผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวานระยะที่ 1-3 (อนุโลมให้ Hb A1C มากกว่า 7.0 ; พิจารณาเป็นรายๆไป)
2. การควบคุมความดันโลหิต
2.1 ผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวานที่มีอัลบูมินในปัสสาวะน้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน ควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140 /90 มิลลิเมตรปรอท
2.2 ผู้ป่วยโรคไตจากเบาหวานที่มีอัลบูมินในปัสสาวะมากกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน ควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้น้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท
2.3 พิจารณาเลือกใช้ยาลดความดันกลุ่มเอซีอีไอ ( ACE-I ) หรือเออาร์บี ( ARB) เป็นกลุ่มแรก ซึ่งนอกจากเป็นยาลดความดันโลหิตแล้ว ยังสามารถลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ และชะลอการ
เสื่อมของไต
3. การลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ โดยการเลือกใช้ยากลุ่ม ACE-I หรือ ARB
4. การควบคุมไขมันในเลือด
4.1 ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรควบคุมระดับไขมัน LDL (ไขมันไม่ดี) ให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม %
4.2 ผู้ป่วยเบาหวานที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ควรควบคุมระดับไขมัน LDL ให้น้อยกว่า 70 มิลลิกรัม %
5. ลดการทานเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เริ่มมีไตเสื่อม
6. ลดอาหารเค็ม การจำกัดเกลือในอาหารและลดทานอาหารเค็ม สามารถช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตได้ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการลดโปรตีนในปัสสาวะของยากลุ่ม ACE-I และ ARB
7. การควบคุมน้ำหนักตัว การลดน้ำหนักสามารถลดโปรตีนในปัสสาวะได้ ควรควบคุมดัชนีมวลกายให้อยู่ในช่วง 18.5 – 24.9 กิโลกรัม/เมตร 2
8. การงดสูบบุหรี่
9. หลีกเลี่ยงการทานหรือฉีดยาที่มีผลเสียต่อไต เช่น ยาแก้ปวดโดยเฉพาะกลุ่มเอนเสด NSAIDs หรือยาที่ยังไม่รู้ส่วนประกอบ และยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่ทำอันตรายกับไต เช่น ยาสมุนไพร ยาหม้อ
ต้ม ยาพื้นบ้าน ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนการใช้ยาใหม่ และรีบมาปรึกษาแพทย์เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีปัญหา
10. เนื่องจากโรคเบาหวานทำให้ระบบประสาทบกพร่อง ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะมีแรงบีบตัวน้อยลง และมีปัสสาวะคั่งค้าง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอยู่แล้ว การกลั้นปัสสาวะจะ
ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ เมื่อเกิดการติดเชื้อบ่อยครั้งสามารถทำให้เกิดไตเสื่อมได้ในที่สุด
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1 / คลินิกอายุรกรรม : 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphat
หรือ เพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด
Facebook : SriphatMedicalCenter