อ.นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองและระบบประสาท
รหัสเอกสาร PI-IMC-371-R-00
อนุมัติวันที่ 24 มิถุนายน 2564
ทำไมต้องรู้จักโรคหลอดเลือดสมอง ?
โรคหลอดเลือดสมองเป็น สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ในหลายประเทศ สลับกับโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ทั้งสองโรคก็เป็นการเสียหายที่หลอดเลือดด้วยปัจจัยเสี่ยงเดียวกัน
พบมากขนาดไหน ?
ปัจจุบัน มีคนไทยเป็นโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่หนึ่งรายทุก 3 นาที และ ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตหนึ่งคนในทุก 6 วินาที
น่ากลัวอย่างไร ?
เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ท่านอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยชั่วขณะจนถึงกับมีอาการพิการ ต้องเสียความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ต้องนอนติดเตียง ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นดูแลไปตลอดหรือเสียชีวิตเลยก็ได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ?
อาการแสดงที่สำคัญ คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉับพลันทันที ดังต่อไปนี้
1. มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สูญเสียการทรงตัวรุนแรงทันที
2. มีอาการตามืดบอดด้านเดียวหรือสองข้างทันที
3. มีอาการปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว การพูดไม่ชัดผิดปกติ
4. มีอาการอ่อนแรงหรือชาของแขนหรือขาแบบครึ่งซีก
5. มีอาการไม่สามารถสื่อสารได้ เช่น ฟังไม่เข้าใจหรือไม่สามารถพูดสิ่งที่ต้องการสื่อสารได้
อาการเกิดจากอะไร ?
อาการแสดงขึ้นกับตำแหน่งในสมองที่ผิดปกติจากการที่ หลอดเลือดมีการตีบตัน หรือมี การแตกของหลอดเลือด ทำให้มีเลือดออกในสมอง ทำให้เนื้อสมองตายทั้งสองอย่างไม่สามารถแยกได้จากประวัติและการตรวจร่างกายจำเป็นต้องอาศัยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT-Scan) หรือ เอ็กซเรย์คลื่นสะท้อนแมเหล็กไฟฟ้า (MRI) ในการช่วยแยกโรคในระยะฉับพลัน
อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดเสียหาย ?
- มีปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ได้แก่ เพศ เชื้อชาติ อายุที่เพิ่มขึ้น ประวัติโรคหลอดเลือดในครอบครัวและโรคทางพันธุกรรม เปรียบเสมือนต้นทุนที่ไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล
- ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ได้แก่ การตรวจและควบคุมโรคเบาหวาน หัวใจ ความดัน ไขมันในเลือดสูง การมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ การสูบบุหรี่ กินเหล้า ใช้ยาเสพติด การไม่ออกกำลังกาย ความเครียด โรคอ้วน และการเป็นโรคไมเกรนในผู้หญิง
หากมีอาการทำอย่างไรดี ?
ต้องไปโรงพยาบาลทันที ห้ามรอดูอาการว่าจะดีขึ้นหรือไม่ สามารถโทร 1669 บริการฉุกเฉินทางการแพทย์รถพยาบาลจากโรงพยาบาลใกล้บ้านจะมารับท่านทันที แล้วควร ติดต่อญาติที่สามารถตัดสินใจได้ ไปพบกันที่โรงพยาบาลด้วย
หากอาการดีขึ้นแล้วยังต้องไปโรงพยาบาลอีกหรือไม่ ?
หากมีอาการของโรคหลอดเลือดแล้วหายสนิท เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA : Transient ischemic attack) จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ อาจจำเป็นต้องสังเกตอาการตามความเหมาะสม เพราะท่านมีโอกาสเป็นซ้ำได้ จากสถิติพบ 1 ใน 3 ของคนไข้จะกลายมาเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และเกินกว่าครึ่งเป็นในปีแรก
รักษาอย่างไร ?
การรักษาในระยะฉับพลัน
หากท่านมาภายใน เวลา 270 นาที ตั้งแต่เริ่มมีอาการและไม่มีข้อห้าม ท่านมี โอกาสจะได้รับยาสลายลิ่มเลือด ซึ่งยาจะช่วยเปิดหลอดเลือดสมองให้ท่าน อาจช่วยให้ท่านกลับมาดีดังเดิมได้ ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ท่านจึงต้องมาถึงให้เร็วที่สุด..ทันที
การรักษาในระยะยาว
ต้องกำจัดปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ เพื่อการป้องกันการเป็นซ้ำ หากท่านมีโรคหลอดเลือดสมองแล้ว หลอดเลือดที่ตำแหน่งอื่นๆ ที่เกิดมาพร้อมกันทั้งร่างกาย ก็มีโอกาสเกิดอุดตันได้เช่นกัน เช่น ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงนิ้วมือหรือขา มีการซีดและอาการปวดฉับพลันได้
7 เคล็ดลับช่วยท่านห่างไกลอัมพาต
1. ต้อง ตรวจสุขภาพ โรคหลายโรคไม่มีอาการผิดปกติให้เห็นได้
2. ต้อง ควบคุมหากมีโรค : เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ
3. ต้อง ขยันหมั่นออกกำลังกาย
4. ต้อง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า และไม่ใช้ยาเสพติด
5.ต้อง ไม่เครียด รู้จักการผ่อนคลาย
6.ต้อง ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน
7.ต้อง ไปโรงพยาบาลทันที ถ้ามีอาการผิดปกติ
เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต
ทุกนาทีที่ผ่านไป มีเซล์สมองตายเพิ่มกว่า 2 ล้านเซลล์ต่อนาที
มีอาการกด 1669 มาโรงพยาบาลทันที
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1 / คลินิกอายุรกรรม : 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphat
หรือ เพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด
Facebook : SriphatMedicalCenter