ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การอุดตันของท่อน้ำตา



ผศ.นพ.ศักรินทร์  อัษญคุณ

จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-009-R-00

อนุมัติวันที่ 18 กรกฎาคม 2557




การอุดตันของท่อน้ำตา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ


1. การอุดตันที่เกิดโดยกำเนิด

        เกิดจากความไม่สมบูรณ์ในการเจริญเติบโตของระบบทางเดินน้ำตาในขณะที่ยังอยู่ในครรภ์ จะสังเกตเห็นว่าเด็กเกิดมาเมื่อร้องไห้และหยุดร้อง ตาจะไม่แดง มีน้ำตาเอ่อคลอเบ้าอยู่เสมอ หรืออาจแห้งเพียงข้างเดียว อีกข้างหนึ่งยังแฉะอยู่ตลอดเวลาและมีหนอง แต่ถ้าการอุดตันอยู่ต้นทางก่อนถึงถุงน้ำตาก็จะไม่มีหนอง


2. การอุดตันของท่อน้ำตาจากสาเหตุอื่น

 
        สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่พบว่าเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อน้ำตามีรูแคบกว่า ส่วนมากเกิดจากอุบัติเหตุ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ถุงน้ำตาอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำตาไหลตลอดเวลา ต่อมาจะมีการอักเสบของถุงน้ำตา บางรายอาจมีตาแดงร่วมด้วย



อาการและอาการแสดง


1. หากการอุดตันอยู่ต้นทางก่อนถึงถุงน้ำตา จะมีอาการตาแฉะ คือ น้ำตาจะเอ่ออยู่ในตา ถ้าเป็นมากเข้าก็จะท่วมท้นหยดลงมาต้องซับตลอดเวลา การมองเห็นจะไม่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการขับรถได้


2. การอุดตันในตอนปลายของทางเดินน้ำตา ระยะแรกจะมีอาการเหมือนการอุดตันในตอนต้นทางก่อนถึงถุงน้ำตา แต่ถ้าอุดตันนาน จะมีการหมักหมมภายในถุงน้ำตา มีการอักเสบบวมแดงบริเวณหัวตา มีขี้ตามาก สีเหลืองเขียวปนมูก ถ้ากดบริเวณที่บวมนูนจะมีหนองไหลออกมา อาการบวมจะยุบลง ในรายที่มีการอักเสบรุนแรง จะมีลักษณะเช่นเดียวกับฝี คือ ปวด บวม ร้อนและเจ็บ ถ้าฝีแตกจะมีหนองและน้ำตาไหลออกมาทางรอยแตกนั้น ซึ่งอาการจะดีขึ้นเอง แต่จำเป็นต้องรักษาต่อ



การรักษา


1. การรักษาโดยยา


1.1 ยาปฏิชีวนะหยอดตาและรับประทาน ร่วมกับการล้างท่อและถุงน้ำตา ถ้ามีการอุดตันในระยะแรกจะให้ยาลดการบวมของเยื่อบุจมูก ร่วมกับรับประทานยาเพื่อลดการบวมของท่อน้ำตา


1.2 ถ้าเป็นในเด็กแรกเกิด จะใช้วิธีนวดบริเวณถุงน้ำตา โดยทำวันละ 4-5 ครั้ง ซึ่งสามารถหายได้เองในขวบปีแรก ร่วมกับการรับประทานยาและหยอดยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่ได้ผลจะรักษาโดยวิธีต่อไป


1. การรักษาโดยใช้ลวดแยงท่อน้ำตา

         ใช้ได้ผลดีกับเด็กหลังอายุ 1 ปี เนื่องจากการอุดตันมาจากการอุดตันของท่อน้ำตาในส่วนที่เปิดลงจมูก ซึ่งเป็นเยื่อบางๆ ปิดอยู่เท่านั้น เมื่อแพทย์ใช้ลวดแหย่ให้เปิดแล้วก็จะไม่ปิดอีก แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนถึงอายุ 4 ปี โอกาสหายจะลดลง อาจต้องทำซ้ำ หากไม่สำเร็จ บิดา มารดา ควรเข้าใจและยอมให้ทำการผ่าตัดโดยเร็ว


2. การผ่าตัด เป็นวิธีที่ดีและได้ผลมากที่สุดในการรักษา   


    1.1 การอุดตันอยู่ที่ท่อน้ำตาตอนปลายที่จะเปิดเข้าจมูก การผ่าตัดใช้วิธีทำทางเดินน้ำตาให้ใหม่ โดยเจาะเอากระดูกที่กั้นระหว่างถุงน้ำตาและโพรงจมูกออก แล้วเปิดถุงน้ำตาเชื่อมกับเยื่อจมูก น้ำตาจะไหลลัดไปลงจมูกตามทางใหม่ที่ต่อไว้ อาการตาแฉะเป็นหนองจะดีขึ้นหลังผ่าตัด


    1.2 การอุดตันอยู่ที่ทางเดินน้ำตาตอนต้นหรือถุงน้ำตา เนื่องจากถุงน้ำตาอักเสบเรื้อรังนานจนเหี่ยว ไม่มีช่องผ่านภายใน ต้องทำการผ่าตัดโดยการเจาะกระดูกที่กั้นระหว่างถุงน้ำตาและโพรงจมูกออก แล้วเจาะเอาเยื่อบุช่องจมูกที่ยาวมากพอที่จะตลบขึ้นไปทำเป็นทางผ่านใหม่ เปิดที่ผิวตาแล้วใส่ท่อพลาสติกหรือท่อแก้วตาคาไว้ น้ำตาจะไหลผ่านท่อที่ใส่ใหม่ลงสู่จมูกโดยตรง ผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดแบบนี้จะมีท่อเล็กๆ ที่หัวตานานประมาณ 6 - 12 เดือน แล้วจึงเอาออก


    1.3 ผู้ป่วยบางรายต้องใช้วิธีผ่าตัดเอาถุงน้ำตาที่อักเสบออกเท่านั้น โดยไม่สามารถทำท่อน้ำตาใหม่ให้ผ่านลงสู่จมูกได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการน้ำตาไหลออกนอกตา ต้องซับน้ำตาอยู่เสมอ แต่ร่างกายมีการปรับตัวลดปริมาณการผลิตน้ำตาลง ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกลำบากมากเกินไป



การปฏิบัติตัวเมื่อท่อน้ำตาอุดตัน


    1. หยอดยาและรับประทานยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์ เพื่อป้องกันการอักเสบติดเชื้อ


    2. นวดบริเวณถุงน้ำตา โดยทำวันละ 4 - 5 ครั้ง


    3. ในเด็กทารก ผู้ปกครองควรจะพามาพบแพทย์ตั้งแต่สังเกตพบ เพื่อแพทย์จะให้การรักษาโดยการใช้ลวดแยงเพื่อเปิดท่อน้ำตา ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนถึงอายุ 4 ปี โอกาสหายจะลดลง


    4. ผู้ป่วยที่ทำทางเดินน้ำตาให้ใหม่ หลังผ่าตัดจะมีสายยางเล็กๆ บริเวณท่อน้ำตากับโพรงจมูก บางรายอาจคาไว้ 3 - 6 เดือน ผู้ป่วยต้องไม่ขยับหรือดึงสายออก ถ้าหลุดให้บอกแพทย์ หรือรีบกลับมาพบแพทย์


    5. การทำความสะอาดบริเวณใบหน้า ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ด ห้ามเช็ดสายยางบริเวณตา


    6. สังเกตอาการผิดปกติ ว่ามีอาการน้ำตาไหลอีกหรือไม่ ถ้ามีให้มาพบแพทย์ เพราะแสดงว่ามีการอุดตันอีก


    7. หลีกเลี่ยงฝุ่นละอองต่างๆ ไม่ให้เข้าตา


    8. สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ



ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat