อ.นพ. ธีรนัย พยัฆวิเชียร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ
รหัสเอกสาร PI-IMC-376-R-00
อนุมัติวันที่ 22 กรกฎาคม 2564
เพลทเลท ริช พลาสมา (Platelet-rich Plasma : PRP) คืออะไร ?
PRP คือวิธีการรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อ โดยการนำเลือดของผู้ป่วยมาปั่นจนได้ส่วนของเหลว ที่เรียกกันว่า “พลาสมา” เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการรักษา พลาสมาจะมีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ และยังมีส่วนประกอบของโกรทแฟคเตอร์ (growth factors) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ทฤษฎีปกติในร่างกายของมนุษย์เมื่อได้รับบาดเจ็บ มีแผลฉีกขาด หรือมีการแตกของเส้นเลือด เกล็ดเลือดจะรวมตัวเพื่อไม่ให้เลือดไหลออกจากหลอดเลือด จากนั้นเกล็ดเลือดจะเป็นตัวกระตุ้นเซลล์ต่างๆในร่างกาย เพื่อมาซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บ
การเตรียม PRP
แพทย์จะทำการดูดเลือดจากผู้ป่วย นำมาปั่นเพื่อแยกสัดส่วนของเกล็ดเลือดและ โกรทแฟคเตอร์ (growth factors) จากนั้นนำเกล็ดเลือดเข้มข้นฉีดเข้าไปยังเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ
ตัวอย่างในการใช้ PRP
1. การบาดเจ็บเรื้อรังของเอ็นบริเวณข้อศอกและข้อไหล่
2. ภาวะกระดูกอ่อนบริเวณข้อเท้าบาดเจ็บ
3. กระตุ้นการซ่อมแซมและลดอาการปวดในผู้ป่วยหลังจากการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดซ่อมเอ็นไขว้หน้าบริเวณข้อเข่า
4. ข้อเสื่อม
การเตรียมผู้ป่วย
· ต้องงดยาตามที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะยาลดการอักเสบกลุ่ม เอ็นเสด (NSAID’s) และยาสเตียรอยด์ (Steroid) อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการฉีดยา เนื่องจากยาจะส่งผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้ประสิทธิภาพในการฉีดลดลง
· ผู้ป่วยไม่ควรมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากจะทำให้การดูดเลือดทำได้ยาก
การดูแลหลังการฉีด PRP
· สังเกตอาการหลังจากฉีดยา 15-30 นาที ก่อนกลับบ้าน
· ผู้ป่วยจะมีอาการปวดในช่วง 1-3 วันหลังจากได้รับการฉีด PRP หากมีอาการบวมปวด แนะนำให้ประคบเย็นและทานยาลดอาการปวดแต่ ยังต้องงดยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAID’sและยาสเตียรอยด์ต่ออีกอย่างน้อย 3 วัน
· หากอาการปวดยังคงอยู่หลังจากวันที่ 3 หลังฉีดยา หรือมีอาการบวมแดงมากขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์
ผลการรักษา
· ประสิทธิภาพในการรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรืออวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ
· เนื้อเยื่อบาดเจ็บแบบเฉียบพลันจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการบาดเจ็บเรื้อรัง
· ผลการรักษาจะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ระยะเวลา 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป