Knowledge

Capsule Endoscopy


ศ.คลินิก นพ.องอาจ  ไพรสณฑรางกูร และ ผศ.นพ.ภูริพงศ์ กิจดำรงธรรม

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-066-R-00

อนุมัติวันที่ 11 มีนาคม 2558


        นับเป็นความล้ำหน้าด้านวิทยาการทางการแพทย์ในระดับสากล เนื่องจากการวินิจฉัยโรคทางเดินอาหารด้วยการกลืนแค็ปซูลเป็นการตรวจแนวใหม่เกี่ยวกับโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะในส่วนที่ลึกที่สุดของลำไส้เล็ก ซึ่งสามารถแสดงประมวลผล และรายงานการวินิจฉัยได้อย่างละเอียด ถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังมีขั้นตอนที่ง่าย สะดวก และปลอดภัยต่อผู้รับการตรวจ เพื่อที่แพทย์จะได้นำผลการวินิจฉัยไปประกอบการรักษาได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป

        สำหรับ การวินิจฉัยโรคของลำไส้เล็กด้วยการกลืนแค็ปซูล(Gastrointestinal Wireless Capsule Endoscopy) ได้มีการใช้ในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมัน, อิตาลี, อิสราเอล, ญี่ปุ่น , เกาหลี ,  ฮ่องกง ฯลฯ

        “แค็ปซูล” ไม่ใช่ตัวยา แต่เป็นวัสดุหรืออุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในชุดอุปกรณ์มาตรฐาน เพื่อการวินิจฉัยโรคระบบทางเดินอาหาร โดย “แค็ปซูล” แต่ละเม็ดมีขนาดยาว 11 ม.ม. / กว้าง 26 ม.ม. / น้ำหนัก 3.7 กรัม


ชุดอุปกรณ์มาตรฐาน

        นอกเหนือจาก “แค็ปซูล” ซึ่งรับส่งสัญญาณ (Sensor Array) แล้วยังมีเข็มขัดที่ให้ผู้ป่วยตรวจคาดไว้ที่เอว ซึ่งเป็นเครื่องบันทึกข้อมูล (Data Recorder) เพื่อแปลงเป็นภาพ


ขั้นตอนการวินิจฉัย


        เริ่มจากการให้ผู้ป่วยกลืน “แค็ปซูล” พร้อมน้ำ โดยไม่ต้องเคี้ยว หลังจากขั้นตอนนี้แล้ว “แค็ปซูล” จะเดินทางไปยังส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหารคล้ายๆ กับยานกระสวยขนาดจิ๋วติดตั้งกล้องบันทึกภาพ และไฟกระพริบส่องสว่าง ท่องไปตามเส้นทางวิบากและคดเคี้ยวในระบบทางเดินอาหาร โดยเริ่มจากปากไปยังหลอดอาหาร (Esophagus) กระเพาะอาหาร (Stomach) ลำไส้เล็ก (Duodenum) ลำไส้เล็กตอนกลาง (Jejunum) ลำไส้เล็กตอนปลาย (lleum) ช่วงลิ้นเชื่อมต่อก่อนถึงลำไส้ใหญ่ (lleo – cecal –valve) กระพุ้งแรกของลำไส้ใหญ่ (Cecum) และลำไส้ใหญ่ (Colon) ทั้งนี้ “แค็ปซูล” ดังกล่าว จะมีแสงกระพริบส่องสว่าง 2 ครั้งต่อวินาที พร้อมบันทึกภาพส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหาร และจะส่งสัญญาณภาพต่อไปยังชุดรับส่งสัญญาณ ที่ติดไว้บริเวณหน้าท้องผู้ป่วยรวม 8 จุด จากนั้นสัญญาณดังกล่าว จะถูกส่งต่อเนื่องเชื่อมเข้าเก็บบันทึกไว้ในเครื่องบันทึกภาพและข้อมูลที่ถูกติดตั้งไว้กับเข็มขัดรัดเอวผู้ป่วยนั่นเอง ซึ่งจะใช้เวลาในการวินิจฉัยนี้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ระหว่างนั้นผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกาย และทำงานได้ตามปกติ ก่อนที่ “แค็ปซูล” จะถูกถ่ายออกมากับอุจจาระ และจะไม่นำ “แค็ปซูล” นี้กลับมาใช้อีก เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้แล้ว แพทย์จะนำภาพและข้อมูลที่ได้ไปทำการวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และถูกต้องตรงกับสาเหตุของโรคต่อไป


ประโยชน์และข้อดีของ “การวินิจฉัยโรคทางเดินอาหารด้วยการกลืนแค็ปซูล”


        สำหรับตัวผู้ป่วยเองเมื่อกลืน “แค็ปซูล” แล้วยังสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ โดยมีข้อพึงระวังบางประการ อาทิ ไม่ควรก้มตัวมากเกินไป ไม่ควรให้ร่างกายมีเหงื่อออกมาก หรือไม่ควรอยู่ในบริเวณที่มีสนามแม่เหล็ก ฯลฯ ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งสัญญาณระหว่าง “แค็ปซูล” และเครื่องรับสัญญาณที่เข็มขัด ซึ่งมีผลต่อการวินิจฉัยได้ นอกจากนี้หลังจากกลืน “แค็ปซูล” ผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยยังสามารถรับประทานอาหารเหลวหรือขนมขบเคี้ยวได้บ้าง และประการสำคัญคือ ผู้ป่วยอาการหนักที่มีร่างกายอ่อนแอมาก จะไม่ต้องบอบซ้ำ จากการตรวจวินิจฉัยแบบวิธีเดิมๆ อาทิ กลืนแป้งและเอ็กซเรย์ โดยเฉพาะการส่องกล้องตรวจในลำไส้เล็ก ที่มีช่วงความยาวมาก ซึ่งกล้องอาจส่องไม่ถึงในตำแหน่งโรคหรือเป็นสาเหตุของโรค เนื่องจากเป็นจุดที่อยู่ลึกมากนั้นเอง


        ในส่วนของ “การวินิจฉัยโรคทางเดินอาหารด้วยการกลืนแค็ปซูล” นอกจากจะถือเป็นการปฎิวัติวิทยาการด้านการแพทย์ระบบทางเดินอาหารในระดับสากลแล้ว ยังมีจุดเด่นสำคัญคือ แพทย์สามารถนำผลการวินิจฉัยดังกล่าว มาประมวลผลอ่านค่าต่างๆ ได้อย่างละเอียดแม่นยำสูงสุดในทุกมิติ โดยภาพที่บันทึกได้จาก “แค็ปซูล” และการแสดงผลของทุกๆ ช่วงเวลาระหว่างที่แค็ปซูลเดินทางในระบบทางเดินอาหาร จะรายงานค่าที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างถูกต้องแม่นยำตามจริง ซึ่งจะแสดงผลของภาพ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องแบบวิดีโอที่มีคุณภาพสูงเป็นระบบดิจิตอล ทำให้แพทย์สามารถเลือกเจาะข้อมูลดังกล่าวเพื่อบันทึกถ่ายทอด ทั้งแบบแยกทีละภาพหรือบันทึกต่อเนื่องแบบภาพวิดีโอ เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ และให้การรักษาผู้ป่วยต่อไป หรือแม้กระทั่งการส่งต่อข้อมูลต่างๆ ผ่านทางอีเมล์ได้อีกด้วย



Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat