Knowledge

Obesity




พญ.พิธพร  วัฒนาวิทวัส

อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ

รหัสเอกสาร PI-IMC-021-R-00

อนุมัติวันที่ 22 มีนาคม 2561



ใครบ้างที่เรียกว่ามีโรคอ้วน


โรคอ้วน (Obesity)  คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆ ของร่างกายเกินปกติ โดยประเมินได้จาก 


1. ค่าดัชนีมวลกาย BMI (Body Mass Index)

ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กก.)

                            ส่วนสูง (ม.)2


เกณฑ์ค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชีย

    • น้ำหนักน้อย คือ BMI < 18.5 kg/m2

    • น้ำหนักปกติ คือ BMI 18.5 – 22.9 kg/m2

    • น้ำหนักเกิน คือ BMI 23 – 24.5 kg/m2

    • โรคอ้วน คือ BMI 25 – 29.9 kg/m2

    • โรคอ้วนรุนแรง คือ BMI ≥ 30.0 kg/m2


2. วัดเส้นรอบเอว

        คนเอเชียผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร หรือผู้หญิงที่มีเส้นรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร เสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง


โรคอ้วนสำคัญอย่างไร 

โรคอ้วนส่งผลต่อทั้งสุขภาพ การทำงานและการใช้ชีวิต


ผลต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยง

    • โรคเบาหวาน

    • โรคความดันโลหิตสูง

    • โรคหลอดเลือด ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง อันนำมาสู่อัมพฤกษ์ อัมพาต

    • โรคไขมันในเลือดสูง

    • โรคกรดไหลย้อน โรคไขมันแทรกในตับ และโรคนิ่วในถุงน้ำดี

    • โรคระบบทางเดินหายใจ เหนื่อยง่ายเนื่องจากปอดขยายตัวไม่เต็มที่ และโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ

    • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคถุงน้ำในรังไข่

    • โรคข้อเสื่อม 

    • ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสูงขึ้น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร


    ผลต่อบุคลิกภาพ การยอมรับของสังคม และการทำงาน คนที่อ้วนมากๆ จะถูกมองว่าไม่สนใจดูแลตนเอง ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้


โรคอ้วนเกิดจากอะไรได้บ้าง


   1. การรับประทานอาหาร การกินอาหารที่มากเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมพลังงาน อีกทั้งการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว หรือออกกำลังกาย ทำให้พลังงานที่เหลือในแต่ละวันเปลี่ยนเป็นไขมันสะสม  จนกลายเป็นโรคอ้วน


   2. ภาวะที่ร่างกายเผาผลาญพลังงานน้อย ผู้ชายจะมีกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง กล้ามเนื้อจะเผาผลาญพลังงานได้มากกว่า ดังนั้น ผู้หญิงจึงอ้วนง่ายและลดน้ำหนักยากกว่าผู้ชาย


    3. โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง โรคต่อมใต้สมอง หรือโรคต่อมหมวกไตบางชนิด


    4. ยา เช่น ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยาลูกกลอน ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาเบาหวาน ยากันชัก


    5. กรรมพันธุ์


เราจะรักษาโรคอ้วนได้อย่างไรบ้าง

การรักษาโรคอ้วนนั้นมักใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายก่อน เป้าหมายคือการลดน้ำหนักตัวลง 5-10 % ในช่วง 6 เดือน หลังจากนั้นประเมินดูว่าสามารถลดน้ำหนักลงได้อีกหรือไม่ หรือคงน้ำหนักเช่นนั้นได้อีกหรือไม่


วิธีในการลดน้ำหนัก


1. การควบคุมปริมาณอาหาร

    ในแต่ละวันควรได้รับพลังงานไม่เกิน 1200 – 1500 กิโลแคลอรี โดยควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกกินผักมากขึ้น ลดอาหารที่มีพลังงานสูง เช่น ของทอด ของหวาน อาหารมันๆ เลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เลือกกินอาหารที่เป็นของนึ่งหรือต้ม แทนอาหารที่เป็นของทอด ขนมขบเคี้ยว หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม น้ำผลไม้ หันมากินผลไม้สดแทนจะได้รับเส้นใยไฟเบอร์มากกว่า


2. การออกกำลังกาย

    เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร โดยควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงานมากขึ้น


3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

    - ปรับวิธีการกิน กินเมื่อหิว  ไม่ใช่กินเมื่ออยาก  อย่ากินอาหารเร็ว เคี้ยวนานๆ เมื่อรู้สึกอิ่มแล้วต้องหยุด ไม่ควรเสียดาย

    - ปรับวิถีชีวิตประจำวัน เช่น เดินให้มากขึ้น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ หากนั่งนานเกิน 30 - 60 นาที ควรลุกมาเดิน หรือขยับเคลื่อนไหวร่างกาย


4. การรักษาด้วยยา

    ยาลดความอ้วนที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ Orlistat Phentermine Liraglutide ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยามีผลข้างเคียงได้


5. การรักษาด้วยการผ่าตัดลดน้ำหนัก

  ปัจจุบันมีการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนรุนแรง และผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีโรคแทรกซ้อน ด้วยการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หลายสาขาร่วมกัน เนื่องจากต้องมีการเตรียมตัวและดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังรักษา

    หากเราสามารถลดน้ำหนักลงมาได้แล้ว เรายังต้องรักษาน้ำหนักให้คงที่และป้องกันไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


------------------------------------------------------------

สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด