Knowledge

Degenerative Lumber Spinal Canal Stenosis




รศ.นพ.ต่อพงษ์  บุญมาประเสริฐ

แพทย์กระดูกและข้อ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

SD-HA-IMC-092-R-00



ข้อมูล รายละเอียด เหตุผล ความจำเป็นในการเข้ารับการรักษา

โรคกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อม ส่งผลให้เกิดการตีบแคบของช่องกระดูกสันหลังจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกงอก และการหนาตัวของเอ็นยึดกระดูก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดเอวร้าวลงขา ชา เวลายืนนานๆหรือเดินได้สักระยะหนึ่ง ก็จะมีอาการปวดขา พักเดินแล้วดีขึ้น ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่ออาการปวดจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ กลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ อ่อนแรงขามากขึ้น หรือเป็นอัมพาต หากได้รับการรักษาล่าช้า หรือรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล 


วิธีการรักษา ชื่อหัตถการ

การผ่าตัดขยายช่องกระดูกสันหลังส่วนเอว (Decompressive laminectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเอาพยาธิสภาพที่กดทับรากประสาทส่วนเอวออก ทำให้ช่องกระดูกสันหลังกว้างขึ้น เพื่อฟื้นฟูการทำงานของรากประสาทกลับคืนสู่สภาพให้เร็วที่สุด


วิธีการใช้ยาระงับความรู้สึก

วิธีดมยาสลบ ร่วมกับการใช้ท่อช่วยหายใจ (General anesthesia)


ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับทางเลือกอื่น

หากเป็นโรคนี้ในระยะแรกหรือมีความรุนแรงไม่มาก อาจเริ่มรักษาโรคโดยการใช้วิธีการให้พักงาน ปรับเปลี่ยนการใช้งานและชีวิตประจำวัน การใช้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ การทำกายภาพบำบัด การฉีดยาต้านการอักเสบเฉพาะที่เข้าไปในช่องกระดูกสันหลัง การจัดกระดูกสันหลัง เป็นต้น


ก่อนและระหว่างการผ่าตัดขยายช่องกระดูกสันหลังส่วนเอว หากแพทย์ตรวจพบภาวะข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนเอวหลวม อาจพิจารณาเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ โดยการปลูกกระดูกร่วมกับการใช้โลหะดามกระดูกสันหลังร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้


วิธีการผ่าตัดอื่นๆ เช่น การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังโดยวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (Minimally-invasive surgery) การใช้กล้องส่องข้อต่อหรือกล้องจุลศัลยกรรมช่วยผ่าตัด การผ่าตัดโดยไม่ใช้การเชื่อมกระดูก (Non-fusion spine surgery) เช่น การใช้วัสดุยึดคั่นระหว่างกระดุกสันหลัง (Interspinous device) จะต้องอยู่ในดุลยพินิจหรือประสบการณ์ของแพทย์เท่านั้น


ข้อดีเมื่อใช้วิธีนี้

อาการปวดร้าวลงขาจะดีขึ้นภายในเวลาอันสั้นหลังการผ่าตัด  ระยะเดิน (walking distance) จะเดินได้ไกลมากขึ้น กล้ามเนื้อที่อาจอ่อนแรงจะมีกำลังมากขึ้น อาการชาลดลง กลับไปใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้รวดเร็วกว่าวิธีไม่ผ่าตัด


ข้อเสียเมื่อใช้วิธีนี้

ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน เสี่ยงต่อการใช้ยาระงับความรู้สึก มีอาการปวดตึงแผลที่หลัง กระดูกสันหลังเกิดความไม่มั่นคง (หากไม่ได้รับการผ่าตัดเชื่อมข้อต่อ) กรณีที่ต้องได้รับการเชื่อมข้อต่อ ข้อต่อระดับนั้นจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีก อาจส่งผลทางอ้อมให้ข้อต่อระดับอื่นเกิดความเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น และมีโอกาสพบกับสภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมากขึ้น เป็นต้น


ผลการรักษาเมื่อใช้วิธีนี้

การผ่าตัดขยายช่องกระดูกสันหลังส่วนเอว จะช่วยให้อาการปวดร้าวลงขาหายได้เร็วขึ้น ฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อ ลดอาการชา และโอกาสเกิดอัมพาต อาการปวดเอวหลังผ่าตัดอาจลดลงได้หากใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย การเชื่อมข้อต่อจะทำให้ข้อต่อกระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ มั่นคงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากข้อต่อดังกล่าวเชื่อมติด ข้อต่อระดับใกล้เคียงกันอาจต้องรองรับการเคลื่อนไหวมากขึ้น หากข้อต่อเชื่อมไม่ติด ก็อาจเกิดอาการปวดเอวซ้ำ ปวดร้าวลงขา และโลหะดามกระดูกสันหลังหักหรือหลุด เป็นต้น


ระยะเวลาในการรักษาเมื่อใช้วิธีนี้

โดยทั่วไป หลังการผ่าตัดวันที่ 2 แพทย์จะดึงสายระบายเลือดออกและสามารถลุกเดินได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ตั้งแต่วันที่ 3-5 หลังผ่าตัด สามารถกลับไปทำงานเบาๆ และขับรถได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากได้รับการผ่าตัดเชื่อมข้อต่อโดยปลูกกระดูกด้วยกระดูกของตัวผู้ป่วยเอง มักใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน กระดูกจึงจะติด ผู้ป่วยมักต้องสวมแถบผ้าพยุงเอวประมาณ 2 เดือน แพทย์มักจะนัดตรวจซ้ำทุก 1,3,6,12 เดือน และทุก 1 ปีหลังการผ่าตัด


ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้วิธีนี้


    1. ความเสี่ยงจากการแพ้ยาหรือสารต่างๆ ที่ใช้ในการผ่าตัด เช่น ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ


    2. ความเสี่ยงจากการใช้ยาระงับความรู้สึก


    3. การเสียเลือด ทั้งขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องทานยากันเลือดแข็งตัว ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง เป็นต้น


    4. บาดแผลติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการปนเปื้อนจากการผ่าตัด หรือเชื้อโรคแพร่กระจายมาจากตำแหน่งอื่น


    5. การบาดเจ็บของเยื่อหุ้มไขสันหลัง และรากประสาทโดยตรง หรือมีก้อนเลือดคั่ง


    6. อาการปวดตึงบริเวณแผลผ่าตัด


    7. การปวดที่รุนแรงขึ้นกว่าก่อนการผ่าตัด


    8. การเคลื่อนไหวของข้อต่อกระดูกสันหลังลดลง หากต้องได้รับการเชื่อมข้อต่อ


    9. ภาวะกระดูกสันหลังหลวม หากไม่ได้รับการเชื่อมข้อต่อในกรณีที่มีข้อบ่งชี้


    10. ความล้มเหลวและภาวะแทรกซ้อนจากการใช้โลหะดามกระดูกสันหลัง จากการเชื่อมกระดูกไม่ติด การติดเชื้อ ภาวะกระดูกพรุนรุนแรง เป็นต้น



ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat





Facebook : SriphatMedicalCenter