Knowledge

Hand Foot Mouth Disease





อ.นพ.ทัศนัย  วนรัตน์วิจิตร

กุมารแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-062-R-00

อนุมัติวันที่ 23 พฤษภาคม 2562



    โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ Coxsackievirus A16 และ Enterovirus 71 ซึ่งโรคนี้มักพบได้ในวัยทารกและเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตามสามารถพบได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน อาการแสดงที่พบ ได้แก่ ไข้ เบื่ออาหาร เจ็บคอ อ่อนเพลีย


    1-2 วันหลังจากที่ผู้ป่วยมีไข้ จะเริ่มมีแผลหรือเจ็บบริเวณปากหรือในปาก (ซึ่งเรียกว่าโรค Herpangina) และจะมีผื่นลักษณะคล้ายจุดขนาดเล็กสีแดงบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า บางครั้งอาจพบในลักษณะตุ่มพองเกิดขึ้นได้


    ในกรณีเด็กเล็กบางคนสามารถพบภาวะขาดสารน้ำ/สารอาหารร่วมด้วย เนื่องจากมีอาการเจ็บบริเวณแผลในปากจึงทำให้สามารถรับประทานอาหารได้น้อย ทำให้ได้รับสารน้ำ/สารอาหารไม่เพียงพอ


การแพร่กระจายเชื้อ

การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง สามารถแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และเกิดจากการไอจามรดกัน โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย สำหรับการติดเชื้อจากอุจจาระจะเกิดได้ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาจนกระทั่งหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือน แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า ระยะฟักตัว 3-6 วัน


การรักษา

โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็กควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะและให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้และนอนพักผ่อนมากๆ หากเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด


การป้องกันโรค

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ (ก่อนและหลังการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร ภาย หลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการดูแลเด็กป่วย) ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน (เช่น ขวดนม แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดมือ) และใช้ช้อนกลาง


วิธีการควบคุมโรค

หากพบเด็กป่วยต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้าง สรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูก/ปากเวลาไอ จาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระด้วย


โภชนาการสำหรับโรคมือเท้าปาก

อาหารในช่วงวัยระหว่าง 1-6 ปี หรือวัยก่อนเรียน มีความสำคัญจะช่วยให้ร่างกายเด็กเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพ เด็กควรได้รับอาหารมื้อหลัก 3 มื้อที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่และหลากหลาย อาหารว่างไม่เกินวันละ 2 มื้อ และอย่าลืมให้เด็กดื่มนมวันละ 2-3 แก้วด้วย 

ปัญหาโภชนาส่วนใหญ่ในเด็กที่เกิดโรคมือเท้าปาก คือ กินอาหารได้น้อยลงจากการมีแผลในปาก หรือ เบื่ออาหาร ทำให้เด็กอาจขาดสารอาหารได้ หลักการสำคัญ คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ 


หลักการเลือกอาหาร


1. เลือกเมนูอาหารอ่อน ลักษณะคือ เคี้ยวง่าย ไม่แข็ง ไม่มีกากใยมาก ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ให้บดละเอียดหยาบ ถ้าเป็นผัก ให้ต้มหรือลวก ถ้าเป็นผลไม้ ให้เลือกที่ผิวอ่อนนุ่ม เช่น มะละกอ มะม่วงสุก และส้มเขียวหวาน เป็นต้น ตัวอย่างอาหาร เช่น ข้าวต้มหมูสับใส่ไข่ ข้าวต้มปลา ไข่ตุ่นกับข้าวสวย ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กหมูสับ ผัดวุ่นเส้น และผัดฟักทองใส่ไข่ เป็นต้น


2. รับประทานอาหารที่สุก อุ่น สดใหม่ เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนมากับอาหาร


3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว สับปะรด และเสาวรส เป็นต้น และจำพวกน้ำอัดลม โซดา เพราะฤทธิ์ของกรดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อแผลบริเวณที่เกิดแผลได้


4. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มและเผ็ดจัด เพราะจะทำให้เกิดอาการเจ็บ ปวดแผลบริเวณปากได้


5. เลือกรับประทานของเย็นๆ ช่วยลดอาการปวด เจ็บบริเวณแผลได้ เช่น ไอศกรีมผลไม้ เชอร์เบท น้ำผลไม้ปั่นน้ำตาลน้อย และนมจืดเย็น เป็นต้น


6. กรณีไม่มีไข้สูง หรือไอ สามารถดื่มน้ำเย็น ช่วยลดอาการปวด เจ็บบริเวณแผล และทำให้บริโภคอาหารได้เพิ่มขึ้น


7. กลั้วปากด้วยน้ำอุ่นหลังรับประทานอาหารเสร็จ


8. ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร



พลังงานที่ต้องการ 1,300 – 1,400 กิโลแคลอรีต่อวัน และโปรตีน 22 – 40 กรัมต่อวัน



เอกสารอ้างอิง

นายฉัตร์ชัย นกดี.//(2560).//“โรคมือเท้าปาก” รู้ทันไม่อันตราย.//สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2562,/จาก/http://www.thaihealth.or.th/Content/36787-“โรคมือเท้าปาก”%20รู้ทันไม่อันตราย.html

Centers for Disease Control and prevention.//Hand,Foot,and Mount Disease(HFMD).//สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2562,/จาก/http://www.cdc.gov/hand-foot-mouth/about/transmission.htmlMayo Clinic.//(2017).//Hand-foot-and-mouth disease.//สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2562,/จาก/http://www.mayoclinic.org/.disease-conditions/hand-foot-and-mouth-disease/diagnosis-treatment/drc-20353041

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.//(2555)โภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัยและวัยก่อนเรียน.///สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2562,/จาก/http://www.thaihealth.or.th/.Content/20231-โภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัยและวัยก่อนเรียน%20.html


ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat