Knowledge

Influenza



อ.นพ.ทัศนัย  วนรัตน์วิจิตร

กุมารแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-057-R-00

อนุมัติวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562



        โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza ) เป็นสาเหตุของโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) การระบาดส่วนใหญ่เกิดช่วงฤดูหนาว ในขณะที่ประเทศเขตร้อนเกิดได้ตลอดปี ทำให้ช่วงเกิดการระบาดไม่แน่นอน


        ระยะฟักตัวประมาณ 2 วัน (อยู่ในช่วง 1- 4 วัน) ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นในช่วง 3-4 วันแรก ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงอาจจะสามารถเริ่มแพร่เชื้อให้ผู้อื่นก่อนมีอาการ 1 วัน และจนถึง 5-7 วัน เด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจจะแพร่เชื้อนานกว่า 7 วัน


อาการและอาการแสดง



  โรคนี้มีอาการเล็กน้อยจนถึงอาการรุนแรง และบางครั้งเป็นสาเหตุนำมาซึ่งการเสียชีวิตได้ 


อาการของไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ที่ต่างจากไข้หวัดธรรมดา (Common cold) คือ ไข้หวัดใหญ่มีอาการเฉียบพลันและผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีอาการบางอย่างหรืออาการทั้งหมด ดังนี้


หมายเหตุ : ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ อาจพบอาการทางเดินหายใจ แต่อาจไม่มีไข้ได้ และอาจพบอาการอาเจียน ท้องเสียได้ ซึ่งพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่


        อาการไข้หวัดใหญ่มักจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน จนถึง 2 สัปดาห์ แต่บางคนมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบหูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นอาการแทรกซ้อนไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่เองหรือเกิดจากการติดเชื้อร่วมกันของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่กับเชื้อแบคทีเรีย และสามารถนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงได้


        อาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) สมองอักเสบ (encephalitis) กล้ามเนื้ออักเสบ (myositis) หรืออวัยวะต่างๆ ล้มเหลว เช่น ระบบหายใจ (respiratory failure) และไตล้มเหลว (renal failure) คนที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด (asthma) อาจจะมีอาการกำเริบหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจเรื้อรัง(chronic heart disease) และโรคเรื้อรังอาจจะมีอาการแย่ลง คนที่มีร่างกายแข็งแรงสามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้


        แต่กลุ่มเสี่ยงสูงเมื่อรับเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้วมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่


- คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป


- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืดโรคเบาหวานโรคหัวใจ


- หญิงตั้งครรภ์


- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 2 ปี


 อาการแสดงที่เป็นการแจ้งเตือนภาวะฉุกเฉินในคนไข้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในเด็ก ได้แก่


- การหายใจเร็วหรือหายใจลำบาก


- ตัวเขียวคล้ำ


- กินน้อยลง


- ซึม ไม่ตื่น ไม่เล่น


- มีอาการกระสับกระส่าย


- อาการไข้หวัดใหญ่ดีขึ้นแล้วแต่กลับมามีไข้มากขึ้น


        แต่ในเด็กเล็กๆ บางครั้งอาการแสดงที่เป็นการแจ้งเตือนภาวะฉุกเฉิน เช่น


- กรณีที่ไม่สามารถรับประทานได้


- หายใจลำบากหรือร้องอย่างเดียวโดยไม่ทราบสาเหตุ


- ร้องไห้ไม่มีน้ำตา


- รับประทานได้น้อยลงอย่างชัดเจน โดยดูจากผ้าอ้อมที่เปียกน้อยลงกว่าปกติ


        ในผู้ใหญ่อาการที่เป็นอาการฉุกเฉินจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ


- หายใจลำบาก หายใจสั้น


- มีปวดหรือหน้าอก แน่นหน้าอกหรือหน้าท้อง


- มีเวียนศีรษะทันทีทันใด


- มีอาการสับสน


- มีอาเจียนรุนแรง


- มีอาการไข้หวัดใหญ่ดีขึ้นแล้วแต่กลับมามีไข้อีกหรือว่าไอมากขึ้น



การวินิจฉัยโรค


        ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่โดยพิจารณาอาการทางคลินิก อย่างไรก็ตามในช่วงที่ไม่ใช่การระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ อาจจะมีการติดเชื้อจากเชื้อไวรัสทางเดินหายใจตัวอื่น เช่น Rhinovirus ,Respiratory syncytial virus ,Parainfluenza ,Adenovirus ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ได้


การรักษา


        ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแทรกซ้อนและไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงควรให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้อยู่ที่บ้านพื่อลดความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายในชุมชนและให้ยาลดไข้ ส่วนในผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน ควรให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะได้ผลดีใน 48 ชั่วโมงแรก


ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการทางคลินิกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับที่สงสัยหรือหรือยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว เช่น


- มีอาการของปอดบวม


- มีการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือมีอาการรุนแรงโดยมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย


        ควรให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยเร็วที่สุด และการให้ยาต้านไวรัสให้อย่างน้อย 5 วัน และสามารถให้นานขึ้นจนกระทั่งมีอาการดีขึ้น และการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ไม่ควรใช้ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ เช่น มีอาการหอบหืดร่วมด้วยเนื่องจากทำให้การขับไวรัสออกจากตัวนานขึ้น การกดภูมิคุ้มกันทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มเติมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา



การป้องกัน


        การป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การให้วัคซีน เนื่องจากมีความปลอดภัยและมีการใช้มานาน โดยสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไดัในทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยแนะนำให้ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้งยกเว้นเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครั้งแรก ควรได้รับวัคซีน 2 เข็มในปีแรก ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยทั่วไปภูมิคุ้มกันจะขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ การที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดลง จึงมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี

      การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในคนสูงอายุอาจจะมีประสิทธิผลในการป้องกันได้น้อยกว่า แต่ลดความรุนแรงการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการตายของโรคได้ การให้วัคซีนมีความสำคัญในคนกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และคนที่อาศัยอยู่กับหรือดูแลคนในกลุ่มเสียงสูง


 องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนทุกปี สำหรับ


1. หญิงตั้งครรภ์


2. ในเด็กที่อายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี


3. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป


4. คนที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง


5. บุคลากรทางการแพทย์


        เมื่อหลายปีก่อนองค์การอนามัยโลกแนะนำใช้วัคซีนที่มีส่วนประกอบ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Influenza A 2สายพันธุ์และ InfluenzaB 1 สายพันธุ์ ในปี 2013 ถึง 2014 เริ่มมีการใช้วัคซีนที่เป็นสายพันธุ์ซีกโลกเหนือ ประเภท 4 สายพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วย Influenza A 2 สายพันธุ์ และInfluenza B 2 สายพันธุ์


อาการข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่


- เจ็บบวมแดงบริเวณที่ฉีด


- ปวดศีรษะ


- มีไข้


- คลื่นไส้


- ปวดกล้ามเนื้อ


        มีบางการศึกษาพบว่าความเป็นไปได้ของความเกี่ยวพันระหว่างการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับการเกิดกลุ่มอาการกีแลงบาเร่ (Guillaian-Barre ‘ Syndrome  GBS) โดยประมาณการความเสี่ยงของการเกิด GBS หลังจากฉีดวัคซีนน้อยกว่า 1 หรือ 2 ราย ของ GBS ต่อ 1 ล้านคนที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่


        บางการศึกษาไม่พบความสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้ว่าการเกิด GBS ตามหลังจากการเป็นไข้หวัดใหญ่จะพบน้อยมาก แต่การเกิด GBS ตามหลังจากการเกิดติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะพบได้บ่อยกว่าการเกิดตามหลังการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ GBS จะไม่มีความสัมพันธ์กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นที่พ่นจมูก


อาการแสดงของการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่พบได้น้อยมาก ได้แก่


- หายใจลำบาก


- เสียงแหบ มีเสียง Wheezing


- มีอาการบวมรอบตาและปาก


- มีผื่นลมพิษ


- ตัวซีด


- อ่อนแรง


- หัวใจเต้นเร็วหรือสับสน


 บุคคลที่ไม่ควรได้รับวัคซีน ได้แก่


- เด็กที่อายุน้อยกว่า 6เดือน เนื่องจากอายุน้อยเกินไป


- คนที่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีน


- ผู้มีประวัติแพ้ไข่อย่างรุนแรง (Anaphylaxis)


- ผู้ที่มีประวัติเป็น GBS (Guillain Barre’Syndrome)


- คนที่ไม่สบาย


        นอกจากการให้วัคซีนป้องกันโรคและการให้ยาต้านไวรัสในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว การป้องกันสุขอนามัยส่วนบุคคลก็มีความสำคัญ เช่น


- ล้างมือบ่อยๆ และเช็ดมือให้แห้ง


- ปิดปากปิดจมูกด้วยต้นแขน/ข้อศอกของตัวเองหรือกระดาษทิชชูเมื่อมีการไอหรือจาม


- เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่สบายมีไข้หรือมีอาการของไข้หวัดใหญ่ให้ดูแลตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น


- พักผ่อนให้เพียงพอ


- ดื่มน้ำให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์


- ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มความเสี่ยงสูงควรพบแพทย์


ข้อมูลอ้างอิง

1. https://www.cdc.gov/flu/consumer/symptoms.htm

2. https://www.cdc.gov/flu/about/disease/spread.htm

3. https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/influenza-(seasonal)


ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat