อ.นพ.ชัยวรรธน์ ประดิษฐ์ทองงาม
อายุรแพทย์โรคทางเดินอาหารและตับ
รหัสเอกสาร PI-IMC-052-R-00
อนุมัติวันที่ 21 ตุลาคม 2561
E.R.C.P คืออะไร ?
การส่องกล้องตรวจรักษาทางเดินน้ำดีและตับอ่อน เป็นการส่องกล้องผ่านเข้าไปทางปากหลอดอาหารกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ไปจนถึงรูเปิดของท่อน้ำดี โดยแพทย์จะทำการฉีดสารทึบแสงเข้าไปในท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อน และเอ๊กซเรย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน รวมถึงทำการรักษาภาวะท่อน้ำดีหรือท่อตับอ่อนอุดตันจากสาเหตุต่างๆ เช่น นิ่ว หรือ เนื้องอก เป็นต้น
บุคคลใดบ้างที่ควรได้รับการตรวจส่องกล้องท่อน้ำดีและตับอ่อน ?
1. ผู้ป่วยที่มีอาการตา ตัวเหลือง และตรวจพบหรือสงสัยว่ามีนิ่วในท่อน้ำดี หรือในท่อตับอ่อน
2. ผู้ที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติของท่อน้ำดี และตับอ่อน เช่น รั่ว ตีบ หรือพบมีเนื้องอก เป็นต้น
3. ผู้ที่มีความผิดปกติบริเวณรูเปิดของท่อน้ำดี ซึ่งอาจเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณรูเปิดผิดปกติ (Sphincter of Oddi dysfuction: SOD) หรือมีเนื้องอกบริเวณรูเปิดท่อน้ำดี
การเตรียมตัวก่อนได้รับการส่องกล้อง
ก่อนวันส่องกล้อง
1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด กรณีทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ แพทย์จะพิจารณางดยาอย่างน้อย 5-7 วัน ก่อนทำการส่องกล้อง
2. งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำทุกชนิดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนทำการส่องกล้องหรือตามแพทย์สั่ง กรณีที่มีโรคประจำตัวและมียาที่ทานประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าต้องงดยาทุกชนิดหรือสามารถทานต่อได้ระหว่างที่งดน้ำและอาหาร
3. ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยาหรืออาหารทะเลกรุณาแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ให้ทราบ
4. แพทย์อาจพิจารณาให้มานอนโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจเลือดหรือเอ๊กซเรย์ก่อนทำการส่องกล้อง
วันส่องกล้อง
1. แพทย์ให้ข้อมูลการส่องกล้องรวมถึงความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนของการส่องกล้องให้ผู้ป่วยทราบ และลงชื่อยินยอมส่องกล้อง
2. ถอดฟันปลอมและเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกก่อนถูกส่งตัวไปที่ห้องส่องกล้อง
3. ผู้ป่วยจะได้รับการพ่นยาชาเฉพาะที่บริเวณลำคอ รวมถึงได้รับยาระงับความรู้สึก และยาคลายความกังวลโดยวิสัญญีแพทย์ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเคลิ้มหลับไป
4. ระหว่างการส่องกล้อง ผู้ป่วยต้องนอนคว่ำ หนุนหมอน และตะแคงหน้าไปด้านขวา
5. แพทย์ทำการส่องกล้องผ่านท่อพลาสติกเข้าไปทางปาก ผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และ ลำไส้เล็กส่วนต้น จนถึงรูเปิดท่อน้ำดีและตับอ่อน ฉีดสารทึบแสง และถ่ายภาพเอ๊กซเรย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ กรณีตรวจพบนิ่วในท่อน้ำดี แพทย์จะทำการคล้องนิ่ว หรือขบนิ่วออก หรือหากพบว่ามีการอุดตันของท่อน้ำดีจากสาเหตุต่างๆ เช่น เนื้องอก หรือท่อน้ำดีตีบ แพทย์จะใส่ท่อระบายน้ำดีคาไว้ เพื่อลดอาการตา ตัวเหลือง
การปฏิบัติตัวภายหลังการตรวจส่องกล้องท่อน้ำดีและตับอ่อน
- ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปที่ห้องพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการ และตรวจติดตามสัญญาณชีพประมาณ 2-3 ชั่วโมงเมื่อผู้ป่วยตื่น รู้ตัวดี และอาการต่างๆ ปกติแล้ว จึงจะถูกนำตัวกลับห้องพัก
- ผู้ป่วยต้องนอนพักอย่างน้อย 24 ชั่วโมง พร้อมกับงดน้ำและอาหาร เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ
- หลังการตรวจอาจมีอาการแน่นอืดท้อง หรือปวดท้องได้ กรณีที่มีอาการปวดท้องหรือแน่นท้องมาก ให้แจ้งพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ เพื่อรายงานแพทย์ให้ทราบ
- แพทย์จะอธิบายผลการส่องกล้องตรวจและแนวทางการรักษารวมถึงการปฏิบัติตัวหลังการส่องกล้องให้ผู้ป่วยหรือญาติทราบต่อไป
- หลังจากออกจากโรงพยาบาล ควรมาพบแพทย์ตามวันและเวลาที่นัดหมาย
ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : SriphatMedicalCenter