Knowledge

Transthoracic Echocardiography,TTE



อ.พญ.วิมาลา  วิวัฒน์มงคล 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-147-R-00

อนุมัติวันที่ 27 เมษายน 2559



การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจทางหน้าอก Transthoracic Echocardiography,TTE


        คือ การสร้างภาพหัวใจจากการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ที่ส่งจากหัวตรวจผ่านทางผนังหน้าอกไปถึงหัวใจ เป็นการตรวจพิเศษที่ทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว ทราบผลทันที มีความปลอดภัย และมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด สามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย สตรีมีครรภ์ก็รับการตรวจได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ


“เสียง” เป็นคลื่นเชิงกลที่เกิดจากจุดกำเนิดที่มีการสั่น แล้วส่งถ่ายพลังงานกระจายผ่านตัวกลางออกไปในแนวเส้นตรง เมื่อกระทบตัวกลางที่มีความหนาแน่นมากกว่า คลื่นบางส่วนจะมีการหักเหและเลี้ยวเบนไป บางส่วนจะเกิดการสะท้อนกลับ (reflection) เกิดเป็น”เสียงสะท้อน”(Echo) คลื่นเสียงที่สะท้อนกลับจะมีการแทรกสอดกับคลื่นตั้งต้นที่ส่งมาจากจุดกำเนิด อาจจะในเชิงเสริมกันหรือหักล้างกัน จนในที่สุดคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับจะมีลักษณะเฉพาะตัว และมีความเร็วในการสะท้อนกลับแตกต่างกัน ขึ้นกับวัตถุหรือตัวกลางที่ไปกระทบมา จากหลักการนี้นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ในการสร้างภาพหัวใจจากคลื่นเสียงสะท้อน โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) ขนาด 1 ถึง 5 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่ระดับความเข้มไม่เกิน 1 วัตต์ต่อตร.ซม.(W/cm2) ส่งออกมาจากหัวตรวจผ่านผนังหน้าอกไปถึงหัวใจ ตลอดทางที่คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านเนื้อเยื่อต่างๆ จะเกิดเสียงสะท้อนกลับแตกต่างกันตามองค์ประกอบของเนื้อเยื่อ กลับเข้าสู่ตัวรับสัญญาณที่หัวตรวจแล้วเชื่อมไปยังคอมพิวเตอร์ในตัวเครื่อง แปลงเป็นสัญญาณภาพดิจิตอล เห็นผ่านหน้าจอได้ตลอดเวลาขณะตรวจ (Real time)



ประโยชน์ของการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจทางหน้าอก (Transthoracic Echocardiography,TTE )


• วินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษา


• ติดตามและประเมินผลการรักษาเพื่อปรับยา หรือวิธีการรักษาให้ได้ผลเต็มที่อย่างปลอดภัย



ข้อบ่งชี้ในการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจทางหน้าอก (Transthoracic Echocardiography,TTE )


1. เมื่อมีอาการหรือสภาวะที่สงสัยสาเหตุมาจากหัวใจ ได้แก่ เหนื่อยหอบ เจ็บอก ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอด


เลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมอง หรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่อวัยวะต่างๆ เป็นต้น


2. เมื่อการตรวจร่างกายสงสัยโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม  ความผิดปกติของห้องหัวใจ/ลิ้นหัวใจ/กล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจ/หลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) โรคความดันในปอดสูง


3. เมื่อผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตัวชี้วัดทางชีวภาพของหัวใจ (Cardiac biomarker) เอ็กซเรย์ทรวงอก คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น มีความผิดปกติ สงสัยสาเหตุมาจากหัวใจ


4. เมื่อพบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias) ที่ก่อให้เกิดอาการ หรือมีความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพ ได้แก่ หัวใจเต้นกระตุกชนิดที่มีจุดกำเนิดจากหัวใจห้องล่าง โดยเกิดขึ้นบ่อยหรือเกิดขึ้นขณะออกแรง

(Ventricular Premature Contractions,VPCs หรือPVCs)  หัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation,AF) หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้งชนิดที่จุดกำเนิดจากหัวใจห้องบน (Supraventricular Tachycardia,SVT) หรือจุดกำเนิดจากหัวใจห้องล่าง (Ventricular Tachycardia,VT)


5. เมื่อมีอาการหรือเกือบจะมีอาการวูบ หน้ามืดเป็นลม หมดสติ ที่มีลักษณะทางคลินิกสงสัยโรคหัวใจ


6. เมื่อจำเป็นต้องทราบภาวะการทำงานของหัวใจก่อนให้เคมีบำบัด หรือการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง


7. ในภาวะวิกฤตเฉียบพลันที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ ได้แก่


• ภาวะช็อค หรือ ภาวการณ์ไหลเวียนโลหิตไม่คงที่ ที่สงสัยสาเหตุจากหัวใจ


• ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome,ACS)


• ภาวะระบบหายใจล้มเหลวหรือขาดออกซิเจนที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด


• ภาวะลิ่มเลือดอุดตันปอด


• ภาวะได้รับบาดเจ็บต่อหัวใจ


8. หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจจะทำซ้ำเมื่อมีอาการ หรือสภาวะทางคลินิกที่เปลี่ยนแปลง เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมกับการดำเนินโรค



ขั้นตอนการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจทางหน้าอก (Transthoracic Echocardiography,TTE )

1. ผู้รับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้

2. เจ้าหน้าที่จัดให้ผู้รับการตรวจนอนบนเตียงราบ ตะแคงไปด้านซ้ายเล็กน้อย ติดตัวรับสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิวหนัง 3 จุด และเปิดส่วนของเสื้อบริเวณหน้าอกออกเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจ

3. แพทย์จะเริ่มทำการตรวจโดยใช้เจลใสป้ายบริเวณหน้าอก แล้วใช้หัวตรวจแตะบริเวณหน้าอกและเลื่อนไปมาตามตำแหน่งที่ต้องการให้เห็นภาพ (ขณะตรวจเราจะไม่ได้ยินคลื่นเสียงที่ส่งออกมาหรือที่สะท้อนกลับ เพราะเป็นคลื่นอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) มนุษย์สามารถได้ยินเสียงเฉพาะย่านความถี่ 20 -20,000 เฮิรตซ์ (hertz, Hz) แต่ในขั้นตอนที่ตรวจกระแสการไหลเวียนโลหิตในหัวใจหรือหลอดเลือด (Doppler flow study) เครื่องแปลงสัญญาณให้ได้ยินเสียงดังฟู่ๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจด้วย)

4. การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจทางหน้าอกใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 20-30 นาที

5. เมื่อตรวจเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะอธิบายผลการตรวจให้ผู้รับการตรวจทราบ และสรุปแนวทางการรักษาในลำดับต่อไป


ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat