Knowledge

Cardiac Rehabilitation




พญ.ชนัดดา  วงศ์เอกชูตระกูล(แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู)

และทีมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ

รหัสเอกสาร PI-IMC-025-R-00

อนุมัติวันที่ 18 เมษายน 2561


การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ
(Cardiac Rehabilitation)

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจคืออะไร


        คือการออกกำลังกายที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถกลับมาปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เหมือนปกติ หรือมีชีวิตความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับสภาพก่อนป่วยมากที่สุดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีอาการเหนื่อยน้อยลง โดยไม่เพียงคำนึงถึงสภาพหัวใจของผู้เข้ารับการฟื้นฟูเท่านั้น แต่ยังใส่ใจต่อปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยแต่ละคนด้วย



ประโยชน์ของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ


    1. ช่วยลดอัตราการตาย ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลในผู้ป่วยโรคหัวใจลดอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย เจ็บแน่นหน้าอก


    2. ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกิจกรรมและการออกกำลังกายเพิ่มความสามารถในการกลับไปทำงาน


    3. เพิ่มความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหัวใจทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้



ผู้ใดควรทำการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ


    1. ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือผู้ป่วยที่ได้รับการถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจโดยการใช้บอลลูนและขดลวด


    2. ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ที่ไม่มีอาการกำเริบ


    3. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจ เช่น การผ่าตัดลิ้นหัวใจ การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ (บายพาสหลอดเลือดหัวใจ)


    4. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง,โรคอ้วน เป็นต้น 



โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ระยะผู้ป่วยในศูนย์ศรีพัฒน์ฯ


        โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจประกอบด้วย การฝึกออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายและการทำงานของหัวใจแข็งแรงมากขึ้น การให้สุขศึกษาซึ่งจะเน้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะราย และการจัดการกับภาวะเครียดการให้โปรแกรมตามขั้นตอนจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องช้าหรือเร็วขึ้นกับอาการและสภาพของผู้ป่วย ภายใต้การวางแผนของทีมสหสาขาวิชาชีพการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ซึ่งประกอบด้วย ศัลยแพทย์โรคหัวใจ, อายุรแพทย์โรคหัวใจ, แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู, พยาบาล, นักกายภาพบำบัด, เภสัชกรและนักกำหนดอาหาร 



การออกกำลังกายแบบคาลิสเทนิก


ทำไมต้องออกกำลังกายแบบคาลิสเทนิก


        การออกกำลังกายแบบคาลิสเทนิกเหมาะสมในการฟื้นฟูสภาพหัวใจผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากเป็นการออกกำลังที่ไม่มีแรงต้าน และเริ่มจากการใช้พลังงานน้อยไปสู่การใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยเป้าหมายในการออกกำลังกายจะคำนึงตามความเหมาะสมและอาการแสดงของผู้ป่วยเฉพาะรายไป



การออกกำลังกายแบบคาลิสเทนิกทำอย่างไร


        ออกกำลังกายอุ่นเครื่อง (Warm up) โดยการออกกำลังกาย จากท่าที่ 1 ไปสู่ท่าที่ 9 และออกกำลังกายเบาเครื่อง(Cool down) โดยการออกกำลังกายจากท่าที่ 9 ไปสู่ท่าที่ 1หรือภายใต้คำแนะนำของทีมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ขณะออกกำลังกายจะเคลื่อนไหวต่อเนื่องกัน, ไม่เกร็งค้าง, ไม่กลั้นหายใจขณะกระทำ


โดยมีท่าในการออกกำลังกาย ดังรูป



กระดกข้อมือ = 20 ครั้ง

กระดกข้อเท้า = 20 ครั้ง



หมุนคอไปทางซ้าย-ขวา = 10 ครั้ง

นั่งงอ/เหยียดเข่าสลับกัน 2 ข้าง =10-20 ครั้ง

หมุนไหล่ทั้ง 2 ข้าง = 10-20 ครั้ง

ยกแขนขึ้น - ลงพร้อมกัน 2 ข้าง = 10 ครั้ง

นั่งย่ำเท้าอยู่กับที่ สลับขา 2 ข้าง= 20 ครั้ง

ยืนย่ำเท้าอยู่กับที่สลับขา 2 ข้าง= 10-20 ครั้ง

ยืนโยกตัวไปทางซ้าย-ขวา = 10-20 ครั้ง



ผู้ป่วยควรงดออกกำลังกายเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้


    1. เจ็บหน้าอกเหมือนอาการเจ็บจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือมีอาการหัวใจล้มเหลวกำเริบ


    2. มีอาการเจ็บป่วยฉับพลัน เช่น ไข้สูง เวียนศีรษะมาก ปวดศีรษะมาก วูบเหมือนจะเป็นลม ตาลายหรืออ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการตึงเครียดทางจิตใจ


    3. ถ้าอากาศร้อนจัด หนาวจัด มีฝุ่นละออง ควัน ไอเสียมาก


    4. อัตราการเต้นของชีพจรมากกว่า 120 ครั้ง/นาที หรือความดันโลหิตมากกว่า 180/110 มม.ปรอท


    5. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 100 มก./ดล. หรือ สูงกว่า 300 มก./ดล. ในผู้ป่วยเบาหวาน



คำแนะนำการออกกำลังกายที่บ้านในระยะแรกหลังกลับจากโรงพยาบาล


        ชนิดของการออกกำลังกาย: สามารถใช้รูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกับขณะอยู่ในโรงพยาบาล แต่การออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุด คือ การเดิน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยพยายามเดินให้ครบตามเวลาที่กำหนด



ขั้นตอนในการเดินออกกำลังกาย


    1. ช่วงอบอุ่นร่างกาย (Warm up)ให้ทำท่ากายบริหารแบบคาลิสเทนิกจากท่า 19โดยทำช้า ๆ อย่างต่อเนื่องโดยพยายามอย่าเกร็งค้าง โดยทำท่าละ 10-20 ครั้งใช้ระยะเวลาประมาณ 10 นาที


    2. ช่วงออกกำลังกาย ตามระยะเวลาหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วคือ

 

        2.1 สัปดาห์แรกหลังออกจากโรงพยาบาลเดินให้เร็วเต็มที่โดยให้ความรู้สึกเหนื่อยใกล้เคียงกับที่เดินในโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน เป็นเวลา 5 นาที


        2.2 สัปดาห์ที่2 ทำเช่นเดียวกับสัปดาห์แรก แต่เพิ่มระยะเวลาในการเดินเป็น 10 นาที


        2.3 สัปดาห์ที่3 ทำเช่นเดียวกับสัปดาห์แรก แต่เพิ่มระยะเวลาในการเดินเป็น 15 นาที


        2.4 สัปดาห์ที่4 ทำเช่นเดียวกับสัปดาห์แรก แต่เพิ่มระยะเวลาในการเดินเป็น 20 นาที


        2.5 สัปดาห์ที่5ทำเช่นเดียวกับสัปดาห์แรก แต่เพิ่มระยะเวลาในการเดินเป็น 30 นาที


        2.6 สัปดาห์ต่อไป หลังจากเดินได้ครบ 30 นาที พยายามเดินเร็วขึ้นเพื่อเน้นการเพิ่มระยะทาง โดยคงระยะเวลาในการเดินเป็น 30 นาทีเหมือนเดิม 


    3. ช่วงเบาเครื่อง (Cool down)ภายหลังการออกกำลังกายไม่ควรหยุดออกกำลังกายทันที ควรออกกำลังกายเบาเครื่อง (Cool down)โดยทำท่ากายบริหารแบบคาลิสเทนิกจากท่า 9 1,ท่าละ 10-20 ครั้ง ใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 นาที



ออกกำลังกายช้าลง ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้


    1. อ่อนเพลียมากขึ้นอย่างผิดปกติ


    2. หายใจตื้นๆ สั้นหรือเหนื่อยมากขึ้นจนเริ่มพูดไม่ออก


    3. เริ่มมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก


    4. ปวดเจ็บตามกล้ามเนื้อ ข้อต่างๆ เป็นตะคริว



ข้อบ่งชี้ในการหยุดออกกำลังกาย


    1. เจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้


    2. เหนื่อยมากจนพูดไม่ออก หายใจสั้นๆ ถี่มากๆ


    3. เมื่อยหรือปวดกล้ามเนื้อ


    4. เหงื่อออกมาก


    5. ชีพจรมากกว่าชีพจรสูงสุดที่แพทย์กำหนดให้ผู้ป่วย


    6. ความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure)ลดลงจากขณะพัก มากกว่า 10 มม.ปรอท


    7. ความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic blood pressure)สูงกว่า 110 มม.ปรอท



การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ 

และทีมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจอย่างเคร่งครัด



เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการชมรมฟื้นฟูหัวใจ.๒๕๕๓. แนวทางการฟื้นฟูสภาพในผู้ป่วยโรคหัวใจ (ระบบออนไลน์) แหล่งที่มา http://www.thaiheart.org/images/column_1291454908/RehabGuideline.pdf (๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙)


ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562


ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat