การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
Loop electrosurgical excision procedure (LEEP)
อ.พญ.ธัญญลักษณ์ วงศ์ลือชา
สูตินรีแพทย์
รหัสเอกสาร PI-IMC-009-R-00
อนุมัติวันที่ 16 มกราคม 2561
การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า เป็นหัตถการที่นำมาใช้ในการวินิจฉัย และรักษารอยโรคปากมดลูกที่ตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะตัดปากมดลูกบางส่วนที่มีรอยโรคผิดปกติออกเท่านั้น
การปฏิบัติตัวก่อนทำหัตถการ
1. พักผ่อนให้เพียงพอ
2. แนะนำงดอาหารก่อนทำหัตถการ
3. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการทำหัตถการ การปฏิบัติตัว หากมีข้อสงสัยใดขอให้สอบถามแพทย์ผู้รักษาให้เข้าใจ
ขั้นตอนการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
1. เจ้าหน้าที่จะนำท่านไปที่ห้องผ่าตัด
2. นอนหงายลักษณะเหมือนการตรวจภายใน
3. ได้รับการเช็ดทำความสะอาดปากช่องคลอดและบริเวณโดยรอบก่อนเริ่มทำหัตถการ
4. แพทย์จะทำการใส่เครื่องมือตรวจภายใน และฉีดยาชาที่ปากมดลูก
5. เริ่มทำการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
6. หลังจากตัดปากมดลูกเสร็จแล้วจะมีการหยุดเลือดที่ปากมดลูกโดยการจี้ไฟฟ้า การป้ายยาห้ามเลือด หรือ ใส่ผ้ากดห้ามเลือดในช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะแจ้งผู้ป่วยอีกครั้ง
7. พักสังเกตอาการประมาณ 1 ชั่วโมง
รูปภาพจาก http://my.clevelandclinic.org
รูปภาพจาก http://womenobgyn.net/procedures/
การปฏิบัติตัวหลังจากทำหัตถการ
1. นอนพักสังเกตอาการหลังจากตัดปากมดลูกประมาณ 1 ชั่วโมง เช่น อาการปวดท้องน้อยหรือเลือดออกจากช่องคลอด
2. สามารถกลับบ้านได้
3. รับประทานอาหารได้
4. งดมีเพศสัมพันธ์ งดลงว่ายน้ำ และงดสวนล้างช่องคลอด ช่วง 4 สัปดาห์แรก
5. รอฟังผลชิ้นเนื้อประมาณ 1 สัปดาห์ และมาตรวจ ติดตามการรักษาตามนัด
6. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดหน่วงท้องน้อย มีไข้ ให้มาพบแพทย์ก่อนนัด
คำแนะนำเพิ่มเติม
1. หลังการตัดปากมดลูก อาจมีเลือดออกกระปริดกระปรอยจากช่องคลอดสีแดงจาง หรืออาจมีสีน้ำตาลคล้ำจากยาห้ามเลือด สีจะจางลงและหมดไปประมาณ 2 สัปดาห์
2. ถ้ามีผ้าหยุดเลือดในช่องคลอด แพทย์จะแจ้งให้ทราบและแนะนำให้ดึงออกในตอนเย็นหรือเช้าวันถัดไป
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้
1. เสียเลือดจากแผลผ่าตัด
2. ปวดหน่วงท้องน้อย
3. แผลที่ปากมดลูกติดเชื้อ อุ้งเชิงกรานอักเสบติดเชื้อ
ข้อห้ามหรือข้อพึงระวัง
1. ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
2. ปากมดลูกติดเชื้อ
3. มีก้อนมะเร็งลุกลามชัดเจน
4. ผู้ป่วยที่แพ้ยาชา ยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ จะมีการสอบถามประวัติแพ้ยา และหากมีการแพ้ยาใดต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง
5. ในสตรีตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คลินิกสูตินรีเวช ชั้น13 โทรศัพท์ 0-5393-6830
16 มกราคม 2561
------------------------------------------------------------
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด