ศูนย์โรคหัวใจ
รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-061-R-00
อนุมัติวันที่ 24 ธันวาคม 2557
EST (Exercise Stress Test) หรือ ETT (Exercise Tolerance Test) เป็นการตรวจสมรรถภาพของหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ เช่น เดินบนสายพานเลื่อนหรือปั่นจักรยาน เพื่อทดสอบว่า เมื่อหัวใจมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ออกกำลังกาย แล้วจะเกิดภาวะการขาดเลือดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหากผู้ป่วยมีภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ก็จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอเมื่อต้องออกกำลังกาย และจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป บางรายจะเกิดอาการเจ็บจุกแน่นอก และอาจเป็นอันตรายได้ หากผู้ป่วยไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเกิดจากโรคหัวใจ
ชนิดของเครื่องมือที่ใช้ทดสอบสมรรถภาพหัวใจ มี 2 แบบ คือ
1. แบบสายพานไฟฟ้า (Treadmill) สามารถปรับตั้งโปรแกรมการทดสอบได้หลากหลายกว่า โดยปรับตั้งทั้งความเร็วและความชันของสายพานวิ่ง
2. แบบจักรยาน (Bicycle ergometer) เครื่องมือราคาถูกกว่า และกินเนื้อที่ในการติดตั้งน้อยกว่าแบบสายพาน และยังใช้ได้ดีในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเดิน การทรงตัว
ข้อบ่งชี้ในการทดสอบ (Indications)
- เพื่อวินิจฉัยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน (ตีบมากกว่า 70%) ในผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโอกาสที่จะเป็นปานกลาง โดยดูจากเพศ อายุ ปัจจัยเสี่ยง ลักษณะอาการเจ็บหน้าอก
- เพื่อตัดสินการพยากรณ์โรคและกำหนดแนวทางการรักษาในผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
- เพื่อคัดกรองในกลุ่มไม่มีอาการที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
- เพื่อประเมินสมรรถภาพร่างกายและการตอบสนองต่อการรักษาในรายหัวใจล้มเหลว ที่รอผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
- เพื่อหาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่สัมพันธ์กับการออกกำลังกาย
การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ
- งดน้ำและอาหาร งดสูบบุหรี่ 2 ชั่วโมง ก่อนการทดสอบ
- ควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและเหมาะกับการออกกำลังกาย รวมทั้งสวมใส่รองเท้าที่สามารถเดินหรือวิ่งได้คล่องตัวโดยไม่หลุด
- ก่อนการทดสอบ ควรงดยากลุ่มที่ทำให้หัวใจเต้นช้า เช่น ยากลุ่ม Beta-blockers
- ก่อนการทดสอบ ควรงดยากลุ่มที่รักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ยกเว้นกรณีทำการทดสอบเพื่อดูผลการรักษาและการพยากรณ์โรค
ขั้นตอนการทดสอบ
1. แพทย์จะทำการทดสอบตรวจประเมินหาข้อห้ามในการทำการทดสอบก่อน
2. เจ้าหน้าที่จะทำการติดเครื่องวัดความดันโลหิตและชีพจรแบบอัตโนมัติ และติดสายวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจบริเวณหน้าอก และจัดเตรียมเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน
3. แพทย์จะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนการทดสอบ ทั้งท่านอนและท่ายืน และขณะออกกำลังกาย
4. ในขณะทำการทดสอบ จะมีการวัดความดันโลหิตและชีพจรเป็นระยะๆ และแพทย์จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากหน้าจอเครื่องทดสอบ
ข้อห้ามในการทดสอบ
-
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่เป็นไม่เกิน 2 วัน
- โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ชนิดที่เรียกว่า unstable angina
- หัวใจเต้นผิดจังหวะที่ควบคุมไม่ได้ และทำให้เกิดอาการหรือความดันโลหิตต่ำ
- โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติคตีบอย่างรุนแรงและมีอาการ
- ภาวะหัวใจล้มเหลวที่การรักษายังไม่ได้ผล
- ภาวะเส้นเลือดปอดอุดตันเฉียบพลัน
- ลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ
- ภาวะเส้นเลือดแดงเอออร์ตาฉีกขาดเฉียบพลัน
- ภาวะการเจ็บป่วยเฉียบพลันที่มีผลต่อการทดสอบ เช่น การติดเชื้อ โรคไตวาย โรคไทรอยด์เป็นพิษ
- การไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ทำการทดสอบ
นอกจากนี้ยังมีภาวะที่ไม่ควรทำการทดสอบ ยกเว้นเมื่อเห็นว่าได้ประโยชน์จากการทดสอบมากกว่าความเสี่ยงที่ได้รับ ภาวะเหล่านี้ ได้แก่
- เส้นเลือดแดงโคโรนารี่ด้านซ้ายตีบตันบริเวณโดนเส้นเลือด
- ลิ้นหัวใจตีบปานกลาง
- ภาวะเกลือแร่ในร่างผิดปกติ
- ความดันโลหิตสูงมาก ค่าความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มม.ปรอท และ/หรือ ค่าความดันโลหิตตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 110 มม.ปรอท
- มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งชนิดเร็วและชนิดเต้นช้าผิดจังหวะ
- มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจโตชนิดที่เรียกว่า Hypertrophic cardiomyopatthy หรือภาวะอื่นที่มีการอุดตันของช่องทางออกของหัวใจห้องล่างซ้าย
- มีสภาพจิตใจหรือร่างกายผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการทดสอบ
- ในรายที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้ เช่น มีปัญหาเรื่องการเดิน ข้อเข่า หรือมีโรคปอด ซึ่งทำให้เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย และไม่สามารถออกกำลังกายจนหัวใจเต้นเร็วตามเกณฑ์ที่กำหนด