Knowledge

Coronary angiography



อ.นพ.ภาณุเมศ  ศรีสว่าง

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-150-R-00

อนุมัติวันที่ 27 เมษายน 2559


 

          โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบแคบหรือตีบตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ โรคอ้วน หรือมีกรรมพันธุ์


        ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บหน้าอก โดยรู้สึกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ ทับกลางอก อาจร้าวไปหัวไหล่ แขน หรือกราม หรือมีอาการจุกแน่นลิ่นปี่ ในการวินิจฉัย แพทย์จะทำการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้รู้ว่าหลอดเลือดมีการตีบหรือไม่


        การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ คือ การฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูหลอดเลือดหัวใจว่ามีการตีบตันหรือไม่ และยังสามารถวัดความดันภายในห้องหัวใจได้ด้วย

 


ข้อบ่งชี้ในการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ


1.    มีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ


2.    พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยการเดินสายพาน


3.    เพื่อเตรียมการผ่าตัดหัวใจ



ขั้นตอนในการตรวจ


ผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำก่อนตรวจ 6 ชั่วโมง และอาจต้องงดยาบางชนิดก่อนตรวจ


-        ระหว่างการตรวจจะมีการใส่สายน้ำเกลือและติดขั้วสื่อไฟฟ้าที่หน้าอกและขา


-        หลังฉีดยาชาเฉพาะที่ ที่แขนหรือขาหนีบ แพทย์จะใส่สายสวนขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณไส้ปากกาลูกลื่นเข้าไปในหลอดเลือดจนถึงหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ แล้วถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจไว้


-        ขั้นตอนการตรวจใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที เมื่อเสร็จแล้วแพทย์จะดึงสายสวนออก แล้วใช้อุปกรณ์ปิดแผลห้ามเลือดบริเวณจุดที่ใส่สายสวนสักระยะหนึ่ง



 รูปที่ 1  สายสวนหลอดเลือดหัวใจ




รูปที่ 2 ห้องตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ


 

รูปที่ 3 การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ




 ภาวะแทรกซ้อน


1.    อาจมีลิ่มเลือดอุดตันทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ( 0.2%)


2.    เสียชีวิต (0.1%)


3.    เลือดออกบริเวณที่ใส่สายสวน < 2%



การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหลังการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ


ขณะพักฟื้นในโรงพยาบาล


-        ถ้ามีอาการชา เย็น ซีด หรือเลือดออกที่แขนหรือขาที่ได้รับการสอดสายต้องรีบแจ้งพยาบาลทันที


-        กรณีที่ใส่สายสวนที่แขน ห้ามงอข้อมือ 24 ชั่วโมง ถ้าใส่ที่ขาหนีบ ห้ามงอเข่าประมาณ 6 ชั่วโมง


-        ถ้าไม่มีอาการผิดปกติภายใน 8 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ และควรพักผ่อนประมาณ 24 ชั่วโมง ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารตามปกติ



เมื่อกลับบ้าน

-        ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงดึง ผลัก ดัน หรือยกของหนัก รวมถึงการนั่งคุกเข่า (กรณีทำที่ขาหนีบ )


-        รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ




Call Center : 0-5393-6900-1 / คลินิกอายุรกรรม : 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphat