ศ.คลินิก นพ.องอาจ ไพรสณฑรางกูร และ ผศ.พญ.อภิญญา
ลีรพันธ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและโรคตับ
รหัสเอกสาร PI-GI-IMC-011-R-00
อนุมัติวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561
ตับเป็นอวัยวะที่ทำงานคล้ายตัวคัดกรองสำคัญในร่างกาย มีหน้าที่ทั้งช่วยสร้างสารอาหารและกำจัดของเสียที่มีอยู่ภายในตัวเรา ดังนั้น จะถือว่าตับเป็นเครื่องในที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของเราก็ไม่ผิดนัก ซึ่งด้วยภาระหน้าที่นี้ของตับ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงกับตับมากมาย โดยอาการผิดปกติของโรคตับที่พบมากที่สุดในประเทศไทย ก็จะมีโรคตับแข็ง เพราะโรคตับแข็งจริง ๆ แล้วก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ดื่มเหล้า ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบหรือมีไขมันพอกตับก็ได้ การตรวจโรคตับแข็งมักพบจากการตรวจภาพ X-ray ได้เมื่อเป็นตับแข็งไปมากแล้ว ดังนั้น การจะตรวจวินิจฉัยตับแข็งในระยะเริ่มแรกอาจต้องทำการเจาะชิ้นเนื้อตับมาดูพยาธิสภาพในตับ ซึ่งมีความไม่สะดวกสำหรับผู้ป่วย เพราะเจ็บและมีความเสี่ยง
FibroScan เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการตรวจหาภาวะที่มีพังผืดในเนื้อตับ ตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ ตับแข็งและความยืดหยุ่นของตับ โดยอาศัยหลักว่าเนื้อตับปกติจะมีลักษณะนิ่ม แต่ถ้ามีพังผืดมากหรือแข็งมาก เนื้อตับก็จะแน่นมากกว่าปกติ ดังนั้น จึงถือว่าได้ว่าเครื่องตรวจนี้มีความสามารถในการวินิจฉัยโรคตับแข็งในระยะแรกๆ ได้ ในปัจจุบันเครื่องนี้ได้ถูกนำมาใช้ประเมินสภาพความแข็งของเนื้อตับ เพื่อทดแทนการเจาะชิ้นเนื้อตับ ผลที่ได้จากการตรวจ FibroScanจะช่วยในการพยากรณ์โรคแทรกซ้อน เพื่อติดตามผลและประเมินโรคที่เป็น โดยไม่เกิดความเจ็บปวดใดๆ กับร่างกาย ลดอัตราการแทรกซ้อนของการเจาะตับได้ และยังลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการนอนโรงพยาบาลอีกด้วย
วิธีการตรวจ FibroScan
- ให้นอนหงายโดยยกแขนทั้งสองข้างไว้เหนือศรีษะ ทาเจลที่หัวตรวจหรือผิวหนังคนไข้เพียงเล็กน้อย
- ทำการตรวจวัดทั้งหมด 10 ครั้ง ที่บริเวณตำแหน่งเดียวกัน (ใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาที)
- ผลที่ได้เป็นตัวเลข ตั้งแต่ 1.5 ถึง 75 kPa ซึ่งแพทย์จะแปลผลจากการตรวจวัด
ข้อดี
- ตรวจง่าย และทราบผลทันที
- ไม่เจ็บปวด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการตรวจ
- สามารถตรวจซ้ำได้หลายครั้งและปลอดภัย
- ไม่ต้องมีการเตรียมร่างกายก่อนรับการตรวจ
- เครื่องรุ่นใหม่สามารถตรวจวัดปริมาณไขมันในตับได้ด้วย
ตรวจ FibroScanเพื่ออะไร
แพทย์จะแปลผลที่ได้ว่า พังผืดมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบการตัดสินใจในการรักษาขั้นต่อไป
ใครเป็นผู้ตรวจ FibroScan
แพทย์ หรือ แพทย์เฉพาะทางเชี่ยวชาญด้านโรคตับ จะเป็นผู้ที่ตรวจ FibroScan ได้ดีที่สุด