Knowledge

Esophagogastroduodenoscopy,EGD




อ.นพ.ชัยวรรธน์  ประดิษฐ์ทองงาม

และทีมงานศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ 

รหัสเอกสาร PI-GI-IMC-001-R-00

อนุมัติวันที่ 11 กรกฎาคม 2560




         ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตั้งแต่หลอดอาหาร ไปจนถึงกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น สามารถทำการวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำถูกต้องมากกว่าในอดีต เพราะได้มีการนำเอากล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้เห็นภาพภายในของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กได้อย่างชัดเจนทางจอโทรทัศน์ ซึ่งเราเรียกวิธีการตรวจนี้ว่า การส่องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้นโดย “วิดีโอสโคป” กล้องตรวจชนิดนี้เป็นสายตรวจขนาดเล็กที่พับงอได้ มีแสง และกล้องบันทึกภาพวิดีโอขนาดเล็กอยู่ตรงปลายสาย เพื่อบันทึกภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวระหว่างทำการตรวจ ทำให้การตรวจหาความผิดปกติในส่วนต่างๆ ของทางเดินอาหารดังกล่าว ทำได้ชัดเจนและถูกต้องแม่นยำ และเรายังสามารถใช้อุปกรณ์ประกอบการวินิจฉัยและการรักษาบางชนิดสอดผ่านท่อเล็กๆ ผ่านกล้องตรวจนี้ เช่น สายตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำเนื้อเยื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา สายจี้ห้ามเลือด หรือสายคล้องสิ่งแปลกปลอมที่พลัดเข้าไปในทางเดินอาหาร เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยได้อีกด้วย




ข้อบ่งชี้ในการตรวจ


           - ผู้ป่วยที่มีเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนบน


         - ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องส่วนบนที่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้วยังไม่หาย


         - ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องส่วนบนที่สัมพันธ์กับอาการ หรืออาการแสดงอื่นๆ ที่น่าสงสัยว่าจะมีโรคที่ร้ายแรง เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือพบอาการในผู้ป่วยที่อายุ 45 ปีขึ้นไป


         - ผู้ป่วยที่มีอาการกลืนลำบากหรือกลืนแล้วเจ็บ


         - ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease / GERD) ที่ไม่หายหรือเกิดใหม่ ถึงแม้ว่าได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้ว


         - ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนติดต่อกันในเวลานานพอควรที่ไม่ทราบสาเหตุ


           - ผู้ป่วยโรคโลหิตจางที่สงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคของกระเพาะหรือลำไส้


         - ผู้ป่วยมีโรคหลักอื่นและมีประวัติของพยาธิสภาพของทางเดินอาหารส่วนบน ที่การวางแผนการรักษาโรคอาจมีผลต่อกายวิภาคของทางเดินอาหารส่วนบน


         - ผู้ป่วยที่มีภาพถ่ายรังสีกระเพาะอาหารผิดปกติ เช่น พบแผลหรือเนื้องอกในกระเพาะอาหารและต้องการการวินิจฉัยที่แน่นอน


         - แพทย์ผู้ตรวจต้องการตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ หรือเก็บของเหลวน้ำย่อยตรวจ


         - แพทย์ต้องการตรวจเพื่อประเมินการบาดเจ็บของทางเดินอาหารในผู้ป่วยที่กินสารกัดกร่อน (caustic ingestion)


         - แพทย์ต้องทำหัตถกรรมเพื่อต้องการเอาสิ่งแปลกปลอมออก ตัดติ่งเนื้อ (polyp) หรือจี้ทำลายเนื้องอกของทางเดินอาหารส่วนบน


         - แพทย์ต้องทำหัตถการเพื่อใส่สายให้อาหารชนิดต่างๆ เช่น PEG, PEJ


         - แพทย์ต้องทำหัตถการเพื่อรักษาการตีบแคบของทางเดินอาหาร โดยการขยายหรือใส่ท่อหรือการฉีดยาเฉพาะที่





การเตรียมตัวก่อนการตรวจ


         1. กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อท่านมีประวัติหรือความผิดปกติเหล่านี้


              - ประวัติการแพ้ยา


              - ปัญหาโรคหัวใจ , โรคปอด


              - ภาวะตั้งครรภ์


              - ประวัติการส่องกล้องและสิ่งตรวจพบก่อนหน้านี้


              - ประวัติการทานยา เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น


              - ถ้าท่านมีโรคประจำตัวและต้องทานยาอยู่เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าท่านจำเป็นต้องงดยาในวันตรวจหรือไม่


         2. งดน้ำและอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนเวลานัดตรวจ เพื่อให้กระเพาะอาหารว่าง และการส่องกล้องตรวจเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งป้องกันอันตรายจากการสำลักอาหาร ขณะทำการตรวจ


         3. ให้ญาติมาด้วยในวันนัดตรวจ เพื่อฝากของมีค่าในระหว่างรับการตรวจและรอรับผู้ป่วยกลับภายหลังการตรวจ

 


ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจ


         1. เมื่อผู้ป่วยมาถึงให้เปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมให้ ถอดแว่นตา คอนเทคเลนส์นาฬิกา ฟันปลอม และของมีค่าฝากญาติไว้


         2. ลงนามในใบยินยอมรับการตรวจรักษาด้วยการส่องกล้องตรวจ กรณีที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้ผู้ปกครองลงนามอนุญาตแทน และรับทราบความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการตรวจหรือรักษา


         3. ในห้องตรวจ ผู้ป่วยจะได้รับการพ่นยาชาในลำคอ ซึ่งสามารถกลืนยานี้ลงไปได้โดยไม่เป็นอันตราย


         4. ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการกังวลมากๆ แพทย์อาจจะต้องพิจารณาให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือด เพื่อลดอาการดังกล่าว แต่ทั้งนี้ จะให้ยาได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีญาติหรือผู้มาส่งที่สามารถขับรถหรือพาผู้ป่วยกลับบ้านได้เท่านั้น


         5. ผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าให้นอนตะแคงซ้าย หลังจากนั้นแพทย์จะใส่อุปกรณ์ป้องกันการกัดกล้องที่ปาก โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้จะมีรูเปิดไว้สำหรับให้กล้องผ่านลงไปได้


         6. แพทย์สอดกล้องผ่านเข้าปาก ระหว่างการส่องกล้อง ผู้ป่วยไม่ต้องกลืนน้ำลาย แต่ให้ไหลออกมาทางมุมปากเอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสำลัก ตลอดเวลาที่แพทย์ทำการส่องกล้องตรวจนี้ ให้ผู้ป่วยหายใจทางจมูก ไม่ควรหายใจทางปาก


         7. ในกรณีที่ตรวจพบสิ่งผิดปกติ แพทย์จะตัดเยื่อบุหรือชิ้นเนื้อในทางเดินอาหารส่งตรวจทางพยาธิวิทยาแพทย์จะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 5-10 นาที


         8. หลังการตรวจ ในกรณีที่ไม่ได้รับยาระงับความรู้สึก แพทย์จะแจ้งผลตรวจแก่ท่าน กรณีที่ท่านได้รับยาระงับความรู้สึก แพทย์จะแจ้งผลการตรวจกับญาติ



ข้อควรปฏิบัติภายหลังการส่องกล้องตรวจ


         1. ภายหลังการตรวจ ท่านจะรู้สึกหนาๆ ในลำคอ และกลืนลำบากอีกประมาณ 15-30 นาที  (ซึ่งเป็นฤทธิ์ยาชา) อย่าพยายามไอหรือกลืนน้ำลายถ้าคอยังชาอยู่ เพราะจะสำลักได้ ถ้ามีน้ำลายให้บ้วนทิ้ง


         2. เมื่อคอหายจากอาการชา ให้เริ่มจิบน้ำก่อน ถ้ากลืนได้ตามปกติให้รับประทานอาหารอ่อนที่กลืนได้ง่ายและหลีกเลี่ยงอาหารร้อนจัด


         3. ผู้ที่ได้รับยาระงับความรู้สึก ให้นอนพักฟื้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง เมื่อรู้สึกตัวดีให้ญาติรับกลับบ้านได้ ผู้ป่วยไม่ควรขับรถทำงานเกี่ยวกับเครื่อง ยนต์และตัดสินใจเกี่ยวกับเอกสารทางกฎหมาย ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการตรวจ


         4. ผู้ป่วยบางรายอาจมีท้องอืดหรือแน่นท้อง จากการใส่ลมเข้าไปในขณะส่องกล้องตรวจ อาการเหล่านี้จะหายไปเองโดยเฉพาะเมื่อเรอหรือผาย ลม


         5. กรณีที่ได้รับการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา อาจมีเลือดออกได้เล็กน้อย ซึ่งจะหยุดได้เองและหายเป็นปกติ


         6. ผู้ที่มีอาการผิดปกติหรือมีภาวะแทรกซ้อนหลังการตรวจ ซึ่งจะพบได้น้อยมาก เช่น ปวดเสียดแน่นท้องหรือหน้าอก ปวดบริเวณคอหรือหลังส่วนบน มีไข้ อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดออก ให้มาพบแพทย์ทันที

      

 


Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphat