ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-166-R-00
อนุมัติวันที่ 8 กันยายน 2559
1. ภาวะท้องผูกคืออะไร ?
2. ใครบ้างที่มีภาวะท้องผูก ?
3. สาเหตุของภาวะท้องผูกคืออะไร ?
4. แพทย์วินิจฉัยภาวะท้องผูกได้อย่างไร ?
5. จะรักษาภาวะท้องผูกได้อย่างไร ?
6. ภาวะท้องผูกเป็นอันตรายหรือไม่ ?
7. ข้อควรจำ
8. คำนิยามศัพท์ที่ควรรู้
ภาวะท้องผูกคืออะไร ?
ท้องผูกคืออาการ ไม่ใช่โรค หมายถึง การที่ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายและสม่ำเสมอ โดยมีความถี่ของขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่าทุกๆ สามวัน หรือวันเว้นสองวัน ร่วมกับก้อนอุจจาระมีลักษณะแข็งและยากต่อการขับถ่ายออกมา บางคนที่มีท้องผูกอาจรู้สึกเจ็บปวดเวลาถ่ายอุจจาระ ซึ่งมักต้องออกแรงเบ่ง ท้องอืดมีลมเยอะ แน่นท้องและรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด
บางคนอาจคิดว่าตนเองท้องผูกหากไม่ได้ขับถ่ายอุจจาระออกมาทุกๆ วัน อย่างไรก็ตาม การขับถ่ายมีความแปรปรวนไม่เหมือนกันในแต่ละคน จากวันละสามเวลาไปจนถึงสามวันครั้งได้
ใครบ้างที่มีภาวะท้องผูก ?
ตลอดช่วงวัยชีวิตของมนุษย์ เกือบทุกคนต้องเคยประสบกับอาการท้องผูกบ้างบางครั้ง พบภาวะนี้ได้บ่อยยิ่งขึ้นในกลุ่มสตรีที่สูงวัยกว่า 65 ปี สตรีตั้งครรภ์อาจมีภาวะท้องผูก เนื่องจากลำไส้มีการบีบตัวช้าลง และยังเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสตรีหลังคลอดบุตรหรือหลังผ่าตัด ส่วนใหญ่ของภาวะท้องผูกมักเป็นชั่วคราวและไม่รุนแรง การเข้าใจถึงสาเหตุ การป้องกันและการรักษา จะช่วยบรรเทาอาการนี้ลงได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่
สาเหตุของภาวะท้องผูกคืออะไร ?
การทำความเข้าใจภาวะท้องผูกนั้น ควรทราบก่อนว่าลำไส้ใหญ่ทำงานอย่างไร (รูปที่ 1) ส่วนใหญ่ของสารอาหารและสิ่งที่มีคุณค่าจากอาหาร จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางลำไส้เล็กก่อนที่อาหารจะเดินทางเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ เมื่ออาหารผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่ น้ำจะถูกดูดซึมออกจากอาหารจนเหลือแต่กากอาหารที่จะกลายเป็นอุจจาระต่อไป ลำไส้ใหญ่จะบีบตัวเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อผลักดันให้อุจจาระเคลื่อนต่อไปยังไส้ตรงในที่สุด ขณะนั้นปริมาณน้ำจะถูกดูดซึมไปเกือบหมด ทำให้อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนรูปร่างเหมือนไส้กรอกและง่ายต่อการขับถ่ายออกมา ภาวะท้องผูกเกิดขึ้นเมื่อลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำออกมากเกินไปหรือกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่บีบตัวเชื่องช้าหรือเฉื่อยชา ทำให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่อย่างช้าๆ ส่งผลให้ก้อนอุจจาระแข็งและแห้งยิ่งๆ ขึ้น
รูปที่ 1 ระบบการย่อยอาหาร
สาเหตุของท้องผูกที่พบบ่อย ได้แก่
๐ การรับประทานอาหารที่ไม่สม่ำเสมอ และมีปริมาณเส้นใยไม่เพียงพอ
๐ ขาดการออกกำลังกาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ)
๐ ยาบางชนิด เช่น
- ยาระงับปวด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาระงับปวดที่เป็นสารเสพติด)
- ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมและแคลเซียม
- ยารักษาความดันโลหิตสูงบางชนิด (ยากลุ่มยับยั้งแคลเซียม)
- ยารักษาโรคพาร์กินสัน
- ยาต้านปวดเกร็ง
- ยาต้านซึมเศร้า
- ยาบำรุงที่มีธาตุเหล็ก
- ยาขับปัสสาวะ
- ยาต้านการชัก
๐ กลุ่มอาการลำไส้ทำงานแปรปรวน
๐ การเปลี่ยนแปลงในชีวิตหรือกิจวัตร เช่น การตั้งครรภ์ อายุมาก การเดินทางท่องเที่ยว
๐ การใช้ยาระบายที่ไม่ถูกต้อง
๐ การละเลยที่จะออกแรงเบ่งเพื่อขับถ่ายอุจจาระ
๐ การขาดสารน้ำ
๐ โรคหรือสภาวะบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (พบได้บ่อยที่สุด)
๐ ปัญหาของลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
๐ ปัญหาของการทำงานของลำไส้เอง (ภาวะท้องผูกเรื้อรังไม่รู้สาเหตุ)
วินิจฉัยภาวะท้องผูกได้อย่างไร ?
การวินิจฉัยภาวะท้องผูกนั้น ส่วนใหญ่ได้จากการซักถามอาการและตรวจร่างกาย แพทย์อาจวินิจฉัยโดยใช้เกณฑ์ดังนี้ คือ การมีอาการสองอาการใดๆ ต่อไปนี้ ปรากฎขึ้นนานอย่างน้อย 12 สัปดาห์ (ไม่จำเป็นต้องเกิดเรียงตามลำดับ) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อาการได้แก่
๐ ขับถ่ายอุจจาระถี่น้อยกว่า 3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์
๐ ต้องออกแรงเบ่งมากขณะถ่ายอุจจาระ
๐ อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง
๐ รู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่หมด
๐ รู้สึกว่ามีอะไรมาขัดขวางหรืออุดกั้นบริเวณไส้ตรงต่อกับรูทวาร
คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าคุณรับประทานยาอะไรเป็นประจำ เพราะว่ายาบางชนิดทำให้เกิดท้องผูกได้ คุณอาจได้รับการตรวจทางทวารหนักร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะสอดนิ้วมือที่สวมถุงมือและหล่อลื่นแล้วเข้าไปทางรูทวาร เพื่อตรวจคลำหาก้อนหรือความผิดปกติภายในไส้ตรง และยังสามารถตรวจหาว่ามีเลือดปนในอุจจาระหรือไม่
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจพิเศษ แพทย์จะส่งตรวจเฉพาะบางราย โดยพิจารณาจากระยะเวลาและความรุนแรงของภาวะท้องผูก อายุ การตรวจพบเลือดปนในอุจจาระ พฤติกรรมของการขับถ่ายที่ผ่านมา น้ำหนักลด หรือมีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว การตรวจพิเศษเหล่านี้ ได้แก่ การส่อง กล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนคด (Sigmoidoscopy) การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) หรือการตรวจต่างๆ ที่จำเพาะ ได้แก่ การสวนตรวจทวารด้วยแบเรียม (Barium enema), การถ่ายภาพรังสีการขับถ่ายอุจจาระ (Barium enema), การตรวจการเคลื่อนผ่านของกากอาหารบริเวณลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (Colorectal transit study), การตรวจการทำงานของไส้ตรงและทวารหนัก (Anorectal function test) แพทย์จะเป็นผู้อธิบายถึงการตรวจเหล่านี้แก่คุณ
สามารถรักษาผู้ที่มีภาวะท้องผูกได้อย่างไร ?
ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีภาวะท้องผูกจะรักษาตนเองที่บ้านโดยการซื้อยาระบายมารับประทานเอง และไม่มาพบแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าในประเทศสหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อผลิตภัณฑ์ยาช่วยระบายในแต่ปี เป็นมูลค่าประมาณ 725 ล้านดอลลาร์ คุณควรปรึกษาแพทย์ถ้าปัญหาท้องผูกของคุณเข้าเกณฑ์ดังต่อไปนี้
เป็นปัญหาใหม่ที่คุณไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นคือมีการเปลี่ยนแปลงของแบบอย่างการขับถ่ายของคุณจากปกติเดิม
๐ เป็นเรื้อรังนานกว่าสามสัปดาห์
๐ อาการรุนแรง
๐ มีอาการร่วมอื่นๆ เช่น เลือดออกเปื้อนกระดาษชำระ น้ำหนักลด ไข้ หรืออ่อนเพลีย
การรักษาเชิงพฤติกรรม
การเปลี่ยนลีลาชีวิต
ลำไส้จะเคลื่อนไหวมากภายหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเช้า ซึ่งมักเป็นเวลาที่อุจจาระพร้อมจะถูกขับถ่ายออกมา คุณจึงควรไปขับถ่ายอุจจาระเมื่อคุณรู้สึกอยากขับถ่ายครั้งแรกโดยไม่รั้งรอ หากคุณเมินเฉยต่อสัญญาณขับถ่ายที่ร่างกายส่งมา จะส่งผลให้สัญญาณนั้นอ่อนลงไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป คุณควรให้ความสนใจกับสัญญาณขับถ่ายและให้เวลาที่เพียงพอสำหรับการขับถ่าย การดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ ในตอนเช้า เช่น น้ำชาหรือกาแฟ อาจช่วยกระตุ้นให้มีการบีบตัวของลำไส้และส่งเสริมการขับถ่ายอุจจาระ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวันช่วยการขับถ่ายด้วยเช่นกัน
ท่านั่งที่เหมาะสมกับการขับถ่ายอุจจาระ
ท่านั่งขับถ่ายมีผลอย่างมากต่อการขับถ่ายอุจจาระของคุณ ท่านั่งที่ถูกจะช่วยให้ไส้ตรงทำมุมดีขึ้นต่อการขับถ่าย ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและไม่ล้า ท่าที่ควรนั่งขับถ่าย คือ ท่าประเภทนั่งยองหรืองอเข่า (รูปที่ 2) โดยใช้เทคนิคดังต่อไปนี้
๐ นั่งสบายๆ บนส้วม โดยแยกขาทั้งสองข้างออกจากกันให้กว้างกว่าส่วนสะโพก
๐ วางเท้าทั้งสองข้างในแนวราบแนบไปบนม้าวางเท้าที่สูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร
๐ โน้มตัวไปข้างหน้าและวางปลายแขนไปบนต้นขา
๐ ผ่อนคลายและหายใจปกติ อย่ากลั้นหายใจ
๐ ทำให้เอวคุณขยายออก โดยยื่นกล้ามเนื้อหน้าท้องคุณออกมา
๐ ผ่อนคลายบริเวณรูทวารหนัก
๐ ใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องของคุณในการออกแรงเบ่งอย่างนุ่มนวลแต่แรงพอ ให้แนวแรงมีทิศทางไปทางด้านหลังและลงล่างไปยังรูทวารหนัก
๐ อย่านั่งนานกว่า 10 นาที ถ้าลำไส้คุณยังไม่พร้อมให้ลองใหม่อีกครั้งในภายหลัง
รูปที่ 2 ท่านั่งที่เหมาะสมกับการขับถ่ายอุจจาระ
อาหาร
การรับประทานอาหารที่สม่ำเสมอและดื่มน้ำที่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี อาหารที่มีปริมาณเส้นใยเพียงพอ (20-35 กรัมต่อวัน) จะช่วยให้อุจจาระมีขนาดใหญ่และนุ่ม อย่างไรก็ตามการรับประทานเส้นใยอาหารปริมาณมากอาจทำให้มีอาการท้องอืดหรือมีแก็สเยอะได้ในบางคน พยายามเพิ่มเส้นใยอาหารประเภทที่ละลายได้ง่าย (เส้นใยจากผัก ผลไม้ และข้าวโอ๊ต) ซึ่งดีกว่าประเภทที่ไม่ละลาย (เส้นใยจากเมล็ดธัญพืช) เริ่มจากปริมาณน้อยๆ ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนกระทั่งก้อนอุจจาระนิ่มลงและขับถ่ายบ่อยขึ้น แพทย์หรือนักโภชนาการสามารถจะช่วยให้คุณวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมได้ คุณอาจทราบปริมาณของเส้นใยมีหน่วยเป็นกรัมต่อมื้ออาหารที่รับประทานได้จากการอ่านข้อมูลข้างภาชนะบรรจุอาหารนั้นๆ (ตารางที่ 1) อาหารบางชนิดมีคุณสมบัติช่วยระบายโดยธรรมชาติ เช่น ลูกพรุน (ผลพลัมแห้ง) ผลมะเดื่อฝรั่ง ผลกีวี ชะเอมเทศ กากน้ำตาล (Molasses) การโรยเมล็ดลินินหรือเมล็ดแฟล็กซ์กะเทาะเปลือก (Cracked linseeds) ลงในอาหารที่คุณรับประทานอาจช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับออกได้ง่าย สำหรับผู้ที่ท้องผูกง่ายควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่มีเส้นใยหรือมีน้อย เช่น ไอศกรีม ชีส เนื้อสัตว์ หรืออาหารสำเร็จรูป การดื่มน้ำหรือของเหลวอื่นๆ เช่น น้ำผัก/ผลไม้ ในปริมาณ 1.5 ถึง 2.0 ลิตรทุกวันจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำและช่วยแก้ท้องผูก
การรักษาด้วยการใช้ยา
การรักษาภาวะท้องผูก ขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรงของอาการ และระยะเวลาที่เป็น ในผู้ป่วยส่วนใหญ่การปรับเปลี่ยนอาหารและลีลาชีวิตจะช่วยบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ หากวิธีง่ายๆ ดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ผล คุณอาจลองใช้วิธีต่อไปนี้รักษา
เส้นใยหรือไฟเบอร์
การรับประทานเส้นใยเป็นวิธีที่ถือว่าปลอดภัยที่สุด แม้ว่าเส้นใยอาจรบกวนการดูดซึมของยาบางชนิดได้ เส้นใยจะดูดน้ำให้อยู่ในลำไส้จึงทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง คุณได้เส้นใยจากการรับประทานอาหารโดยธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์เส้นใยที่มีจำหน่าย ได้แก่ Metamucil, Fiberall, Citrucel, Konsyl และ Serutan คุณควรดื่มน้ำในปริมาณที่มากเพียงพอเมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์เส้นใยดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุดกั้น ควรค่อยๆ เพิ่มปริมาณเส้นใยที่รับประทานช้าๆ เพื่อป้องกันท้องอืด มีลมในท้องหรือปวดเกร็ง
ยาระบาย
โดยทั่วไปควรใช้ยาระบายเป็นครั้งคราว ไม่ควรใช้ต่อเนื่องระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาระบายที่ออกฤทธิ์กระตุ้น อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ ผู้ที่ติดยาระบายจำเป็นต้องค่อยๆ หยุดยาช้าๆ หลังหยุดยาความสามารถในการบีบตัวของลำไส้จะกลับคืนมาได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ยาระบายมีหลายชนิดให้เลือกตามกลไกการออกฤทธิ์ ความปลอดภัย และความชอบของแพทย์ โดยทั่วไปยาระบายอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ดังต่อไปนี้
- ยาระบายกลุ่มกระตุ้น : ออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัวเป็นจังหวะๆ ตัวอย่าง เช่น senna (Senokot) และ bisacodyl (Correctol, Dulcolax) คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเกินความจำเป็น เช่น รับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ หรือใช้ยาในปริมาณมากๆ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
- ยาระบายกลุ่มออสโมซิส ออกฤทธิ์ดูดซึมทำให้สารน้ำไหลกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ผ่านช่องทางพิเศษ จึงมีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภาวะท้องผูกชนิดไม่ทราบสาเหตุ ตัวอย่าง เช่น Polyethylene glycol (MiraLax), Lactulose และ Sorbitol โดยทั่วไปนิยมใช้ Polyethylene glycol เพราะต่างจาก Lactulose และ Sorbitol ตรงที่ไม่ก่อให้เกิดแก็สหรือท้องอืด ส่วน Sorbital นั้นให้ผลเช่นเดียวกับ Lactulose แต่ราคาถูกกว่า แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการใช้ยานี้
- ยาระบายกลุ่มเกลือ ออกฤทธิ์เหมือนฟองน้ำที่ดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ เพื่อให้อุจจาระเคลื่อนตัวผ่านไปได้ง่ายคล้ายคลึงกับยาระบาย กลุ่มออสโมซิส ตัวอย่างเช่น Magnesium hydroxide (Milk ofMagnesia) และ Magnesium citrate (Evac-Q-Mag) ยาระบายกลุ่มนี้ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกเฉียบพลันที่ไม่ได้เกิดจากการอุดกั้นของลำไส้
- ยาเหน็บทวารและการสวนอุจจาระ นอกจากยาระบายจะมีรูปแบบการใช้เป็นยาแบบรับประทาน (ยาน้ำ ยาเม็ด ยาผง หรือยาแกรนูล) ยังมีในรูปแบบของยาเหน็บหรือยาสวนทวาร ซึ่งใช้โดยการสอดผ่านรูทวารเข้าไปในไส้ตรง แม้ว่าผู้คนจำนวนมากไม่ชอบใช้ยารูปแบบนี้ แต่เป็นวิธีที่ให้ผลเร็วกว่าการรับประทาน เมื่อสอดเข้าไปในไส้ตรง ยาจะไปทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลงและทำให้ผนังของไส้ตรงหดตัวเพื่อขับอุจจาระออกมา การใช้ยาในเวลาเดิมของทุกวันอาจช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอ ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาดังกล่าวมาแล้ว อาจใช้ชุดสวนอุจจาระสำเร็จรูปที่มีเกลือ Sodium phosphate/Biphosphate (Fleet) เป็นครั้งคราวได้ แต่ไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคไต ยกเว้นแพทย์สั่งให้ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์
- ยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม/ยาหล่อลื่น ยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ออกฤทธิ์โดยทำให้อุจจาระมีน้ำเพิ่มขึ้นจนมีลักษณะอ่อนนุ่มและเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น มักแนะนำให้ใช้ภายหลังคลอดหรือผ่าตัด และในผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการออกแรงเบ่งอุจจาระ ตัวอย่างของยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มที่มี Docuste เป็นสารออกฤทธิ์ เช่น Colace และ Surfak ส่วนยาหล่อลื่นที่ใช้กันบ่อยที่สุด คือ Mineral oil ตัวอย่างเช่น Fleet และ Zymenol ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายอุจจาระภายใน 8 ชั่วโมงหลังรับประทานยา แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
- ยาอื่นๆ สารปลุกฤทธิ์คลอไรด์แชนแนลทำให้ลำไส้มีน้ำเพิ่มขึ้นและเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งช่วยให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ดีจึงลดอาการของภาวะท้องผูกลง ตัวอย่างเช่น Lubiprostone (Amitiza) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาผู้ที่มีภาวะท้องผูกรุนแรง และสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยนานถึง 6-12 เดือน หลังจากนั้นแพทย์ควรประเมินถึงความจำเป็นในการใช้ยาต่อไป ยากลุ่มนี้มีราคาแพงเมื่อเทียบกับยาระบายอื่นๆ อย่างไรก็ตามคุณอาจจำเป็นต้องใช้ยานี้หากใช้ยาอื่นไม่ได้ผล
การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
ไบโอฟีดแบ็ก (Biofeedback) ไบโอฟีดแบ็ก เป็นการฝึกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนักกายภาพบำบัด อาศัยเครื่องรับรู้ (Sensor) ในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยแสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นวิธีที่มีความแม่นยำในการประเมินการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อ และทำให้นักกายภาพ บำบัดสามารถช่วยคุณฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อในการขับถ่ายอุจจาระ อาจช่วยแก้ปัญหาในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะท้องผูกรุนแรงเรื้อรังจากปัญหากล้ามเนื้อบีบรัดและไม่ผ่อนคลายขณะขับถ่ายอุจจาระ
การผ่าตัด การผ่าตัดอาจช่วยแก้ปัญหาบริเวณไส้ตรงและทวารหนัก เช่น ไส้ตรงยื่นย้อย ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดการยื่นของผิวเยื่อบุไส้ตรงผ่านรูทวารออกมาภายนอก การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออกอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากภาวะลำไส้ใหญ่เฉื่อย (Colonic inertia) แม้ว่าการผ่าตัดนี้จะมีประโยชน์ แต่ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ปวดท้อง ท้องร่วง และกลั้นอุจจาระไม่อยู่
ภาวะท้องผูกก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงได้หรือไม่ ?
บางครั้งภาวะท้องผูกอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ได้แก่ ริดสีดวงทวาร เกิดจากการออกแรงเบ่งมากเพื่อขับถ่ายอุจจาระ แผลปริที่ผิวหนังขอบทวารหนัก (Anal fissure) เกิดจากก้อนอุจจาระที่แข็งมากทำให้กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักยืดออกมากเกินไป อาจทำให้เกิดเลือดออกในไส้ตรง และมีรอยเลือดสีแดงสดติดที่ผิวของก้อนอุจจาระได้ บางครั้งการออกแรงเบ่งอาจทำให้ไส้ตรงยื่นย้อยผ่านทวารออกมา และนำไปสู่อาการมีมูกออกจากทวารหนัก การรักษาที่จำเป็นที่สุด คือ การกำจัดสาเหตุของการยื่นย้อย เช่น การออกแรงเบ่งหรือไอ ในรายที่มีการยื่นย้อยรุนแรงหรือเรื้อรัง อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและช่วยให้หูรูดปิดแน่นขึ้น หรือเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ยื่นย้อยลงมา
ภาวะท้องผูกอาจทำให้อุจจาระอัดกันเป็นก้อนแข็งอยู่ในลำไส้และไส้ตรงแน่นมากจนทำให้แรงบีบตัวของลำไส้ใหญ่ไม่พอเพียงผลักดันให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนลงมา ภาวะนี้เรียกว่าอุจจาระอัดแน่น (Fecal impaction) เกิดขึ้นบ่อยในเด็กและผู้สูงวัย การรับประทาน Mineral oil หรือทำการสวนทวารจะช่วยทำให้อุจจาระที่อัดแน่นนี้นุ่มลงได้ เมื่ออุจจาระนิ่มลงแล้ว แพทย์อาจใช้นิ้วมือที่สวมถุงมือสอดเข้าไปในรูทวาร 1-2 นิ้ว เพื่อช่วยแบ่งแยกก้อนอุจจาระที่แข็งออกเป็นส่วนๆ แล้วนำออกมาทางรูทวาร
ข้อควรจำ
- ภาวะท้องผูกนั้นอาจเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนในเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
- ผู้คนจำนวนมากคิดว่าตนเองมีท้องผูก ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วมีการขับถ่ายอุจจาระปกติสม่ำเสมอ
- สาเหตุซึ่งพบบ่อยที่สุดของภาวะท้องผูกเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลีลาชีวิต ได้แก่ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องและขาดการออกกำลังกาย
- สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ยาบางชนิด กลุ่มอาการลำไส้ทำงานแปรปรวน การใช้ยาระบายในทางที่ผิด และโรคจำเพาะบางโรค
- การซักประวัติและการตรวจร่างกายทางการแพทย์ อาจเป็นการทดสอบเดียวที่จำเป็นก่อนที่แพทย์จะเริ่มให้การรักษา
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะบรรเทาอาการลงได้และป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยการปฏิบัติตนตามแนวทางง่ายๆ ต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีสมดุลและมีเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำง่าย ได้แก่ ผักและผลไม้สด
- ดื่มน้ำปริมาณมากเพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ภายหลังอาหารมื้อเช้าหรือมื้อเย็นควรมีเวลาสำหรับการเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายโดยไม่ถูกรบกวน
- อย่าเพิกเฉยเมื่อมีความรู้สึกปวดอยากขับถ่ายอุจจาระ
- ตระหนักว่านิสัยการขับถ่ายปกตินั้นมีความแปรปรวนแตกต่างกัน
- เมื่อใดที่นิสัยการขับถ่ายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือเกิดต่อเนื่องยาวนาน ควรปรึกษาแพทย์
คำนิยามศัพท์ที่ควรรู้
ก. การตรวจสวนทวารด้วยแบเรียม (ฺBarium enema) เป็นวิธีตรวจด้วยรังสีเอ็กซเรย์ว่ามีพยาธิสภาพที่บริเวณใดในไส้ตรง ลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็กส่วนปลาย เนื่องจากลำไส้ดังกล่าวไม่สามารถมองเห็นได้ในภาพเอ็กซเรย์ แพทย์จึงจำเป็นต้องสวนแบเรียมเข้าไปทางทวารหนักก่อน โดยแบเรียมนี้เป็นของเหลวที่มีสีขาวเหมือนชอล์กและทำให้มองเห็นลำไส้ในภาพเอ็กซเรย์ได้ เพราะแบเรียมจะไปเคลือบด้านในของผิวลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เมื่อถ่ายภาพเอ็กซเรย์จึงสามารถมองเห็นรูปร่างและโรคของลำไส้ได้ ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกปวดท้องแบบบีบๆ ได้บ้างขณะสวนแบเรียมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่มักรู้สึกไม่สะดวกสบายเพียงเล็กน้อยภายหลังการสวน และอุจจาระอาจมีสีขาวอยู่นานสองสามวันหลังการตรวจ
ข. การถ่ายภาพรังสีการขับถ่ายอุจจาระ (Defecography) เป็นการถ่ายภาพทางรังสีของบริเวณไส้ตรงและทวารหนัก เพื่อตรวจว่าอุจจาระได้รับการขับถ่ายออกมาปกติหรือไม่ ภาพนี้จะแสดงให้เห็นว่ากล้ามเนื้อของไส้ตรงทำหน้าที่หดและคลายตัวเป็นปกติหรือไม่ ขณะทดสอบแพทย์จะทำการใส่สารที่มีคุณสมบัตินุ่มคล้ายอุจจาระเข้าไปในไส้ตรง แล้วให้ผู้ป่วยนั่งส้วมและพยายามขับถ่ายสารดังกล่าวออกมา พร้อมๆ กับถ่ายภาพทางรังสีเพื่อดูว่าการขับถ่ายเป็นปกติหรือไม่
ค. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนคด (Sigmoidoscopy) หรือลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) ถ้าเป็นการส่องกล้องตรวจไส้ตรงและลำไส้ ใหญ่ส่วนคด (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) เท่านั้น เรียกว่า Sigmoidoscopy แต่ถ้าเป็นการส่องกล้องตรวจไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ทั้งหมด เรียกว่า Colonoscopy ผู้ป่วยจะได้รับการให้ยาระงับประสาทอ่อนๆ ก่อนการตรวจ แพทย์จะต้องใช้กล้องส่องตรวจที่มีความยาวซึ่งสามารถงอได้และมีแสงสว่างที่ปลาย สอดผ่านทางทวารหนักเข้าไปตรวจเหมือนกัน ต่างกันที่กล้องส่องตรวจ Colonoscopy มีความยาวมากกว่ากล้องส่องตรวจ Sigmoidoscopy
ง. การตรวจการเคลื่อนผ่านของกากอาหารบริเวณลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (Colorectal transit study) เป็นการตรวจว่ากากอาหารเคลื่อนผ่านบริเวณลำไส้ใหญ่ปกติหรือไม่ โดยผู้ป่วยจะกลืนแคปซูลที่ภายในบรรจุมาร์กเกอร์ (Markers) เล็กๆ ซึ่งสามารถมองเห็นผ่านทางเอ็กซเรย์ได้ การเคลื่อนตัวของมาร์คเกอร์เหล่านี้ผ่านลำไส้ใหญ่จะถูกเฝ้าติดตามจากภาพรังสีเอ็กซเรย์หลายๆ ครั้งในช่วง 3-7 วันหลังกลืนแคปซูลเข้าไป ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากในช่วงเวลาที่ทำการตรวจนี้
จ. การตรวจการทำงานของไส้ตรงและทวารหนัก (Anorectal function test) ใช้การทดสอบนี้เพื่อวินิจฉัยภาวะท้องผูกที่เกิดจากการหน้าที่ที่ผิดปกติของทวารหนักหรือไส้ตรง
- การวัดแรงดันในบริเวณไส้ตรงและทวารหนัก (Anorectal manometey) แสดงถึงการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนัก ตรวจโดยการสอดสายหรือบอลลูนผ่านทวารหนักเข้าไปแล้วค่อยๆดึงออกมาช้าๆ ผ่านบริเวณกล้ามเนื้อหูรูด เพื่อวัดแรงตึงและการหดตัวของกล้ามเนื้อ
- การทดสอบการขับออกของบอลลูน (Balloon expulsion tests) ตรวจโดยการสอดบอลลูนผ่านทวารหนักเข้าไปแล้วเติมน้ำเข้าไปในบอลลูนในปริมาณต่างๆกัน จากนั้นให้ผู้ป่วยพยายามขับถ่ายออกมา หากผู้ป่วยไม่สามารถขับถ่ายบอลลูนที่บรรจุน้ำน้อยกว่า 150 มิลลิลิตร อาจบ่งชี้ว่าลำไส้มีการทำงานลดลง
ตารางที่ 1 แสดงปริมาณของเส้นใยในอาหารชนิดต่างๆ
เอกสารอ้างอิง
International Urogynecological Association (IUGA). Constipation: A Guide for Women. 2012.
ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562
------------------------------------------------------------
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th
หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด