ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

10 เรื่องต้องรู้ “โรคไมเกรน”



อ.นพ.อดิศักดิ์  กิตติสาเรศ

อายุรกรรมสาขาประสาทวิทยา

รหัสเอกสาร PI-IMC-058-R-00

 อนุมัติวันที่ 28 มีนาคม 2562

ปวดศีรษะไม่ได้มีแค่ไมเกรน


        การปวดศีรษะเป็น ระบบเตือนของร่างกายที่แสดงออกมา เพื่อให้เรารู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นและจะได้ตรวจเพื่อหาสาเหตุ ไม่ใช่เพื่อให้รับยาแก้ปวดแล้วจบเรื่อง มีโรคที่ทำให้ปวดศีรษะได้จำนวนมาก มีหลายโรคที่มีลักษณะคล้ายการปวดของไมเกรน ดังนั้น หากท่านมีอาการปวดที่มากขึ้น ไม่แน่ใจในลักษณะอาการปวด ควรพบผู้เชี่ยว ชาญเพื่อยืนยันการวินิจฉัย


ปวดศีรษะไมเกรนเป็นอย่างไร


        การปวดศีรษะของไมเกรน เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองถูกกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าปกติ เมื่อมีการปวดแล้วจะมีการรับรู้ที่ระบบประสาทรับความรู้สึกที่เพิ่มมากกว่าปกติ ทำให้รู้สึกถึงการเต้นของหลอดเลือดเกิดอาการปวดขึ้น มักปวดบริเวณขมับร้าวไปกระบอกตา ลักษณะตุ๊บๆ เหมือนหลอดเลือดเต้น มักเป็นทีละข้างสลับไปมาได้ นอกจากนี้ยังไม่อยากได้กลิ่น ได้ยินเสียงหรือรับแสง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะพักไปนอนเพื่อให้ได้หลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ ก็จะดีขึ้น อาจมีอาการร่วมอื่นๆ ที่พบบ่อย คือ การเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกผิดปกติการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อมีอาการเรื้อรังจะมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจมีลักษณะอาการปวดเปลี่ยนลักษณะและอาการแสดงอื่นๆ ร่วมได้ เช่น เจ็บที่หนังศีรษะเวลาถูกสัมผัส นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิงอีกด้วย


ปวดศีรษะต้องเอ็กซเรย์สมองหรือไม่


       หลายคนเข้าใจว่าการปวดศีรษะจำเป็นต้องมีอะไรในศีรษะและสมองทุกกรณี ซึ่งไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ลักษณะมีอาการปวดรุนแรงในทันที, มีอาการซึมลง, อ่อนแรงแขนขา, ชา, พูดไม่ชัด, อาการปวดที่รุนแรงและถี่มากขึ้น, อาการปวดศีรษะครั้งแรกในผู้สูงอายุ (>50 ปี) และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติมเพื่อแยกโรค โดยการเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) แล้วแต่กรณี


ทำอย่างไรไม่ให้ปวดศีรษะไมเกรน


       โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีสิ่งกระตุ้นที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่พบบ่อย คือ แสงแดด อากาศร้อน หนาว กลิ่นเหม็นการใช้เหล้า บุหรี่ อาหารบางชนิด การอดหลับอดนอน ภาวะเครียด การมีประจำเดือน ควรสังเกตุและหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้กระตุ้นการเกิดไมเกรน

 

ยาแก้ปวดกินอย่างไรถึงได้ผลดี


       ในระยะที่มีการปวดศีรษะต้องรับประทานทันทีที่เริ่มปวดศีรษะจึงจะได้ผลดี ยาที่ใช้ได้ คือ พาราเซตามอล,ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) และยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน(Ergotamine) การใช้ยาแต่ละชนิดมีข้อควรระวังที่ต่างกัน ต้องอ่านฉลากก่อนใช้ยา ควรได้รับคำแนะนำจากผู้ เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย


ถ้าปวดถี่มากขึ้นทำอย่างไรดี


       เมื่อเป็นไมเกรนที่รุนแรงถี่มากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการรับยาป้องกันการปวดศีรษะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดที่มากเกินไป และป้องกันการเกิดภาวะปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวด (MOH) ยาที่ใช้ในการป้องกันมีหลายชนิด เช่น Amitriptyline, Nortriptyline, Topiramate, Valproic acid, Propanolol, Flunarizine การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้ป่วยแต่ละราย ที่สำคัญ คือ ยากลุ่มนี้ต้องรับประทานทุกวันในขนาดที่เหมาะสม


กินยาป้องกันทุกวันจะอันตรายไหม


       โดยทั่วไปการรับประทานต่อเนื่องในระยะเวลาที่เหมาะสมมีความปลอดภัยกว่าการรับประทานยากลุ่มแก้ปวดอย่างต่อเนื่อง เมื่ออาการดีขึ้นแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งสามารถหยุดได้ ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและหายจากอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ ยาในกลุ่มป้องกันมีหลายชนิดมีข้อควรระวังที่แตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณา


รู้จักไหม เออร์โกทิซึม


       ในผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีส่วนผสมของเออร์โกทามีน (Ergotamine) ในขนาดสูง มีความเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มอาการนี้ จะมีอาการคือหลอดเลือดส่วนปลายหดตัวอย่างรุนแรง ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเขียวคล้ำ อาจขาดเลือดจนมีการตายของเนื้อเยื่อได้, เป็นตะคริว, ปวดเกร็งท้อง, ชัก ,ความรู้สึกตัวผิดปกติ มียาหลายกลุ่มที่เมื่อรับประทานคู่กับยากลุ่มนี้แล้วเกิดความเป็นพิษได้สูง เช่น ยาฆ่าเชื้อรายต้านไวรัสกลุ่ม Prptease inhibitor, ยาฆ่าเชื้อกลุ่มMacrolideควรพิจารณาใช้อย่างระมัดระวังและควรปรึกษาแพทย์




รู้ไหมการออกกำลังกายช่วยให้หายไมเกรนได้        

                                                                          

        มีหลายการศึกษาที่บ่งชี้ถึงการออกกำลังกายแบบแอโรบิคในสถานที่ธรรมชาติที่มีสิ่งแวดล้อมสีเขียวและการผ่อนคลายความเครียด สามารถช่วยให้อาการปวดศีรษะไมเกรนหายได้เร็วยิ่งขึ้น จึงควรทำการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่องแล้วอาการจะดีขึ้นเกินคาด


คาถารักษาไมเกรน


      หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น

      ร้อนก็กางร่มใส่แว่นดำ

      หนาวก็หาผ้าไว้คลุมกาย

      เรื่องเครียดอดนอนเราไม่ทำ

      เริ่มปวดหัวแล้วรีบกินยาโดยฉับพลัน

      ปวดถี่เมื่อใดหาหมอหาเหตุรับยาป้องกันแล้วกินทุกวัน

      หมั่นขยันออกกำลังกาย


ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center : 0-5393-6900-1
Line iD : @sriphatcenter





Facebook : SriphatMedicalCenter